ดอกเบี้ยต่ำติดดิน เรื่องเศร้าวัยเกษียณ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ที่กำลังเป็นความท้าทายว่าปีหน้า (2020) เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่

ธนาคารกลางทั่วโลกทยอย “ลดดอกเบี้ย” รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ก็มีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.25% เมื่อ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าคาด

ฟากธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐก็ขานรับ ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา คือทั้งกู้และฝาก แม้ว่าบางธนาคารจะยังไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝาก แต่คาดว่าอีกไม่นานก็คงทนไม่ได้

ตอนนี้ทั้งโลกและประเทศไทยอยู่ในยุค “ดอกเบี้ยต่ำติดดิน” ขณะที่บางประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ก็ถึงขั้นติดลบ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าการลดดอกเบี้ยเวลานี้แค่ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้เล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำจะมีผลเอฟเฟ็กต์ที่ต้องพึงระวัง โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดการ “ก่อหนี้”เพิ่มขึ้น ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน

นี่คือประเด็นที่ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วงว่าจะทำให้ “กันชน” ของภาคธุรกิจลดลง เพราะการก่อหนี้ที่เกิดขึ้นเวลานี้

หลายบริษัทขายหุ้นกู้ ไม่ได้เพื่อขยายลงทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพ แต่นำเงินไปซื้อหุ้นคืนเพื่อพยุงราคา ทั้งพบว่ามีหุ้นกู้ความเสี่ยงสูงออกมามากขึ้น

ขณะที่ “หนี้ครัวเรือน” ที่ใกล้ระดับ 80% ของจีดีพี ก็ถือเป็นความเปราะบางของครัวเรือนไทย

สิ่งที่น่ากังวลคือพบว่า คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย และที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นพบว่าเป็น “หนี้เพื่อการบริโภค” จับจ่ายใช้สอยทั้งหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มากกว่าเป็นหนี้ระยะยาวประเภทหนี้บ้านเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว

ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของคนไทยเวลานี้อยู่ในภาวะ “ออมน้อย-หนี้สูง-หนี้นาน”

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนไทยมีอัตราการออมลดลงในทุกกลุ่มรายได้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันภาวะดอกเบี้ยต่ำก็เอฟเฟ็กต์ “คนออมเงิน” โดยเฉพาะคนวัยเกษียณที่ใช้จ่ายจากเงินออมเป็นหลัก

เพราะโอกาสหาผลตอบแทนการลงทุนพอที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นยากมาก ทำให้ประตูความเสี่ยงจากการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้น ผู้บริโภควิ่งหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยอาจมองข้ามความเสี่ยง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มสูงขึ้น เช่นที่ ธปท.มักเตือนถึงผลกระทบจากพฤติกรรม “search for yield”

ขณะที่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ระดับ 0.30-0.50% ต่อปี ดอกเบี้ยฝากประจำ 3 เดือน-6 เดือนอยู่ที่ 1-1.25% ต่อปี

การลงทุนหาผลตอบแทนในยุคดอกเบี้ยต่ำถือเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนมากพอ ก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ความเสี่ยงได้ง่าย ๆ

ภาวะ “ดอกเบี้ยต่ำ” ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่มีโอกาสหาแหล่งเงินต้นทุนต่ำ และที่กำลังนิยมของผู้ประกอบการใหญ่ในช่วงนี้คือ “หุ้นกู้ตลอดชีพ” หรือ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ” ซึ่งเสนอดอกเบี้ยสูงในช่วงปีแรก ๆ ระดับ 5% ออกมาจูงใจ แต่นี่คือความเสี่ยงที่ประชาชนจำนวนมากอาจยังไม่เข้าใจ เพราะบริษัทที่ออกหุ้นกู้ประเภทนี้มีสิทธิที่จะเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ เรียกว่าซื้อแล้วต้องร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทตลอดไป

ประชาชนตัวเล็ก ๆ ไม่ใช่แค่มีปัญหาเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” แต่โอกาสเข้าถึง “การลงทุน” ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะแม้แต่การจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เรตติ้งดี-ความเสี่ยงต่ำ โอกาสเข้าถึงก็ยังไม่มีถ้าไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่