หนุ่มเมืองจันท์ : ฟันธง

คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์

ไม่รู้ว่าไม่อยากให้คนคิดถึงโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หรือเปล่า

รัฐบาลชุดนี้เลยกำหนด “วงเงิน” ที่ใช้ในการเยียวยาวิกฤต “โควิด” ไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท

อย่างน้อยก็บอกว่าใช้เงินน้อยกว่ารัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

และครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไม่มีเสียงต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทยเลย

ทั้งที่ใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล

ทุกคนเปิด “ไฟเขียว” ผ่านตลอด

เพราะรู้ว่าวิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

ไม่ใช่ “ไฟไหม้บ้าน” แต่เป็น “ไฟป่า” ที่ลามไปทั่ว

ใช้ “รถดับเพลิง” สู้ไม่ได้

ต้องใช้เอาน้ำทั้งเขื่อนไปดับ

รัฐบาลทุกประเทศที่มีเงินจะใช้วิธีการเดียวกัน คือ ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ

เหมือนที่เขาเปรียบเทียบว่าไม่ใช่ปืนเล็กยาว แต่เป็น” บาซูก้า”

ผลจากทุกประเทศใช้วิธีการแบบเดียวกัน ทำให้มีหลายคนทำนายว่า เศรษฐกิจอาจไม่ย่ำแย่ขนาดนั้น

เพราะด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจะช่วยยื้อภาคธุรกิจไม่ให้ล้มครืนลงแบบสึนามิถล่ม

แต่จะช่วย “ยืดเวลา” ต่อลมหายใจให้ภาคธุรกิจได้บ้าง

รอจนพายุ “โควิด” ผ่านพ้นไป

แต่คำถามอยู่ที่ว่า แล้วเจ้าไวรัส “โควิด” นี้ จะหยุดการแพร่ระบาดลงเมื่อไร

ไม่มีใครตอบได้

ตอบได้แต่ว่า ถ้ามีวัคซีนหรือวัคซีนเสร็จเมื่อไร

มนุษย์ก็จะปลอดภัยเมื่อนั้น

เพราะวัคซีนจะป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อไวรัส

และ “เซรุ่ม” หรือยารักษาโรคจากเชื้อไวรัสจะทำให้เราไม่กลัวถ้าติดเชื้อไวรัส

เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะไม่ต้องรักษาระยะห่าง 2 เมตร

เราสามารถเดินทางได้โดยไม่ระแวงว่าจะติดเชื้อ

เราจะจับจ่ายใช้สอยได้เหมือนเดิม

เศรษฐกิจจึงจะกลับเข้าสู่วงจรเดิม

เพราะถ้าตราบใดที่มนุษย์ยังคิดค้นวัคซีนหรือเซรุ่มไม่สำเร็จ

นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทาง

คนไม่กล้าออกไปใช้เงินแบบปกติ

ยังระแวงว่าจะติดเชื้อจากคนข้าง ๆ หรือเปล่า

ต่อให้ใช้เงินจำนวนมหาศาลยิ่งกว่านี้

เปลี่ยน “บาซูก้า” เป็นระเบิดนิวเคลียร์

ยังไงเศรษฐกิจก็ไม่กลับมาเหมือนเดิม

นักธุรกิจไม่ชอบ “ความไม่แน่นอน”

สถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหนก็ได้

ขอรู้อย่างเดียวว่าจะจบเมื่อไร

แค่นั้นพอ

แต่ถามว่า มีใครทำนายได้บ้างว่า “โควิด” จะจบเมื่อไร

จนถึงวันนี้มีแต่คนพูดแบบอ้อม ๆ

น่าจะประมาณเดือนนี้ เดือนโน้น

ไม่มีใครกล้าฟันธง

มีนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งบอกว่า ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นมา

และไม่สามารถใช้หลักวิชาการใด ๆ ทำนายได้

เขาจะพึ่งพาคนหนึ่งเสมอ

นั่นคือ “หมอดู”

เพราะหมอดูจะกล้าฟันธงด้วยหลักวิชาที่เขาร่ำเรียนมา

เป็นศาสตร์แห่งดวงดาว

ถามนักธุรกิจคนนั้นว่า เชื่อเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ

เขาบอกว่า ไม่ได้เชื่อ

แต่ต้องการคนฟันธงให้หน่อย

จะได้วางแผนอนาคตธุรกิจได้

ถามว่า ถ้าผิดล่ะ

“ผิดก็แก้ไข”

แต่ดีกว่าลังเลใจไปเรื่อย ๆ ไม่ทำอะไรเลย

ถามต่อว่า แล้วครั้งนี้หมอดูทำนายว่า จะจบเมื่อไร

เขาบอกว่า ยังไม่ได้ดูเลย

และถึงดูแล้วก็ไม่เคยบอกใคร

ทำเลย

ไม่ใช่หวงหรือเห็นแก่ตัวไม่ยอมบอกคนอื่น

แต่เพราะบอกแล้วคนที่รู้ก็จะตามดูเราตลอดว่า หมอดูแม่นหรือไม่แม่น

กลายเป็น “แรงกดดัน” รูปแบบหนึ่ง

เพราะถ้าหมอดูทายผิด เราจะได้ยินคำหนึ่งเป็นประจำ

….”ว่าแล้ว”

ครับ เขาเบื่อหมอดูที่เก่งหลังเหตุการณ์