ปัจจัยชี้ขาดฟื้นฟูการบินไทย

กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ และการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลงเหลือต่ำกว่า 50% ให้การบินไทย พ้นจากรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 พ.ค. 2563 เข้าสู่ช่วงนับถอยหลัง หลายคนอาจถามว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แต่ไม่สำคัญเท่าทิศทางต่อจากนี้ไปของสายการบินแห่งชาติ ที่ต้องพลิกสถานะองค์กรฝ่าวิกฤต

เมื่อยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง กระบวนการต่าง ๆ จะเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มจากศาลจะพิจารณาก่อนมีคำสั่งรับคำร้อง หรือยกคำร้อง หากรับคำร้องก็จะมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน นัดประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแผนฟื้นฟู ศาลพิจารณาและเห็นชอบด้วยแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน การดำเนินการตามแผน ก่อนมีคำสั่งให้ออกจากการฟื้นฟู ฯลฯ

ทุกขั้นตอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วย ลูกหนี้ (บมจ.การบินไทย) เจ้าหนี้ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนฟื้นฟู ดังนั้น นอกจากปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์เศรษฐกิจ วิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมแล้ว การฟื้นฟูกิจการจะเป็นไปได้ราบรื่น บรรลุเป้าหมาย ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การดำเนินธุรกิจของ บมจ.การบินไทย จึงจะเดินหน้าได้ตามแผน

ที่สำคัญ แผนฟื้นฟูกิจการต้องชัดเจน นำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลดขนาดองค์กร จำนวนพนักงาน การทำธุรกิจ การบินไทยจึงจะมีรายได้ชำระหนี้ได้ตามแผน พลิกฟื้นกิจการให้กลับมามีกำไร ขณะเดียวกันต้องไม่มีช่องโหว่นำมาซึ่งข้อโต้แย้ง คัดค้าน กลายเป็นข้อพิพาทในขั้นตอนการฟื้นฟู เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต การฟื้นฟูสะดุดไม่สัมฤทธิผล

ขณะที่ บมจ.การบินไทย ในฐานะลูกหนี้ต้องตระหนักว่า การเลือกใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ต่อเนื่อง แม้จะได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการพักบังคับชำระหนี้โดยอัตโนมัติ หรือ automatic stay แต่ต้องเลือกสรรผู้จัดทำแผน ผู้บริหารแผนระดับมืออาชีพ มีประสบการณ์ทั้งด้านธุรกิจ การเงิน การบริหาร ขับเคลื่อนทุกกระบวนการตามแผนฟื้นฟู

สำหรับพนักงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างองค์กร ลดพนักงาน ต้องยอมเสียสละ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนปรับลดคน เลิกจ้าง ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทุกฝ่ายต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

กรณีตัวอย่างการฟื้นฟูกิจการ เจแปน แอร์ไลน์ สายการบินอันดับ 2 ของญี่ปุ่น เมื่อปี 2553 ที่พลิกขาดทุนกลับมามีกำไรภายใน 1 ปี จะเกิดขึ้นได้กับการฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ถ้าหากรัฐบาล ฝ่ายการเมือง คนในการบินไทย มีความตั้งใจ จริงใจ และพร้อมเสียสละ ยอมเฉือนเนื้อเพื่อรักษาชีวิตสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ให้คงไว้