รีสตาร์ตธุรกิจฟื้นเศรษฐกิจติดลบ

FILE PHOTO: Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

บทบรรณาธิการ


การรับมือไวรัสโควิด-19 ที่ไทยได้รับการชื่นชมว่า สามารถบริหารจัดการปัญหาได้ดีอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นสิ่งที่ต้องรักษามาตรฐานให้คงไว้ เพื่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ประเทศ แต่เศรษฐกิจที่ทรุดหนักและกระทบในวงกว้างมากขึ้นค่อนข้างน่าห่วง

การเลิกจ้างพนักงานยังมีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการประกาศปิดโรงงาน สถานประกอบการ จากภาวะเศรษฐกิจและโควิดที่เข้ามาซ้ำเติม ธุรกิจอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ จากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงหลังปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 17 พ.ค. 2563 ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านเสริมสวย ตัดผม ฯลฯ กลับมาเปิดให้บริการ วันที่ 3 มิ.ย.นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) จะผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟสที่ 3 เพิ่ม

แต่ยังปิดล็อกอีกหลายธุรกิจที่ถูกจัดว่ายังเป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ผ่อนเคอร์ฟิวเพิ่มจากเดิมห้ามออกจากบ้านเวลา 23.00-04.00 น. เป็นการตัดสินใจซึ่งเป็นผลมาจากการเรียกร้องผลักดันของภาคธุรกิจ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งข้อท้วงติง เสนอแนะจากนักวิชาการ นักการเมือง

สำคัญสุดคือเหตุผลความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก กระทบสถานะและความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการประเทศในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ไตรมาสแรกปีนี้ หดตัวลง -1.8% และคาดการณ์ว่าGDP ปีนี้ทั้งปี จะติดลบที่ -5% จนถึง -6%

ยิ่งกว่านั้นไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศรุนแรง รัฐบาลประกาศปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ปิดเมือง ล็อกดาวน์ธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก GDP ไตรมาส 2 มีแนวโน้มจะดิ่งหนักกว่าไตรมาสแรก จึงต้องทำทุกวิถีทางให้สถานการณ์ฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติ มิฉะนั้นเศรษฐกิจจะยิ่งแย่เหมือนถูกแช่แข็ง

บนทางเลือกที่มีจำกัด แม้การตั้งการ์ดป้องกันความเสี่ยงโควิดวิกฤตรอบ 2 ยังเป็นกฎเหล็กที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่การฟื้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง การถูกปลดออกจากงาน ให้คนระดับกลาง ล่างมีรายได้ ธุรกิจได้รีสตาร์ตมียอดขาย ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า


จะบริหารจัดการวิกฤตซ้อนวิกฤตอย่างไร ให้เศรษฐกิจที่ดิ่งลงพลิกกลับมาฟื้น ปลุกกำลังซื้อ การลงทุนให้กระเตื้อง ควบคู่กับมาตรการด้านสุขอนามัยให้คนไทยชาวต่างชาติมั่นใจ เป็นเรื่องที่รัฐต้องทำให้สมดุล จึงจะสร้างภูมิคุ้มกันทั้งโควิด ทั้งเศรษฐกิจที่ติดลบ