เสี่ยงว่างงาน 14 ล้านคน พิษ ‘โควิด’ ลามนักศึกษาจบใหม่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก กระทบอย่างหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจไทยโดยอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้มีแนวโน้มจะหดตัว -5% ถึง -6% ต่อปี ซึ่งส่งผลทางลบต่อการจ้างงานและภาวะหนี้สินของครัวเรือนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1/2563 สะท้อนสภาพปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน

Q1 ว่างงาน 1.03% โควิดยังกระทบน้อย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.7% จากการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง 3.7% เนื่องจากผลกระทบภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร ยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.5% จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา เนื่องจากช่วงดังกล่าวยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากนัก แต่ก็เริ่มมีสัญญาณผลกระทบเกิดขึ้น จากที่สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ของกฎหมายแรงงาน ในการหยุดกิจการชั่วคราว 570 แห่ง ทำให้มีแรงงานที่ต้องหยุดงาน แต่ยังได้รับเงินเดือนอยู่ประมาณ 121,338 คน

ส่วนอัตราการว่างงานไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 394,520 คน หรืออยู่ที่ 1.03% เพิ่มขึ้น 0.92% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในไตรมาสนี้มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้น 3% มีผู้ว่างงานแฝง 448,050 คน เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.2% ผลิตภาพแรงงานลดลง 1% เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

“ไตรมาสแรก ผลกระทบโควิดยังมีไม่มาก จะเกิดขึ้นมากช่วงไตรมาส 2 ที่จีดีพีอาจจะติดลบมากขึ้น และจะมีผลต่อการว่างงาน และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี”

ปี’63 เสี่ยงตกงานพุ่ง 8.4 ล้านคน

แนวโน้มปีนี้ แรงงาน 8.4 ล้านคน มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างงาน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานภาคท่องเที่ยวที่มีอยู่ 3.9 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน 2.แรงงานภาคอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ 5.9 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน โดยกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมาตั้งแต่ปีที่แล้วด้วย และ 3.แรงงานบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว สถานศึกษา โรงเรียนติวเตอร์ ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้าที่มีราว 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 4.8 ล้านคน

นอกจากนี้ แรงงานภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน แยกเป็นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งโดยตรงประมาณ 3.9 ล้านคน และพื้นที่อื่น ๆ อีก 2.1 ล้านคน

ว่างงานตลอดปีเทียบเท่า “ต้มยำกุ้ง”

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่า ทั้งปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ช่วง 3-4% หรือตลอดทั้งปี หรือจะมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน ใกล้เคียงกับวิกฤตการเงินปี 2540 ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมุติฐานว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยสามารถที่จะควบคุมได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งมีการผ่อนคลายเรื่องล็อกดาวน์ และมีการเปิดเมืองเป็นระยะ ๆ ก็จะทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และรัฐมีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ด้วยเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563

ประเด็นที่ต้องติดตาม 1.ความครอบคลุมของมาตรการช่วยเหลือ ทั้งแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเกษตรกรถูกกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเป้าหมาย 37 ล้านราย 2.ติดตามภาวะการเลิกจ้างและการว่างงาน ที่แรงงานบางกลุ่มไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น ภาคท่องเที่ยว ในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น รถยนต์ ฯลฯ

“หากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้ จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง รวมถึงมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาด อาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้”

3.เตรียมความพร้อม ปรับทักษะให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ หรือการสร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพหรือลักษณะการทำงาน เพื่อรองรับการฟื้นตัว

ดึงเงินกู้อุ้มนักศึกษาจบใหม่ 3 แสนคน

นายทศพรกล่าวอีกว่า จะมีการใช้เงินกู้จากกรอบ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการดูแลแก้ปัญหาการว่างงาน โดยรัฐบาลจะดูแลไม่ให้มีผู้ว่างงานเกิน 2 ล้านคน อย่างไรก็ดี จะต้องติดตามแรงงานจบใหม่ด้วย ซึ่งปีนี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้ 520,000 คน และอาจจะไม่มีตำแหน่งงานรองรับได้ทั้งหมด เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดี

“ต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงาน โดยส่วนหนึ่งใน พ.ร.ก.เงินกู้ ก้อน 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการจ้างงานนิสิตนักศึกษาจบใหม่บางส่วน ในกลุ่มที่มีทักษะด้านดิจิทัลที่ดี คาดว่าราว 2-3 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ หากไตรมาส 3 มีมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย และไตรมาส 4 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ก็จะสนับสนุนให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นด้วย”

แนวโน้มหนี้ครัวเรือน-เอ็นพีแอลพุ่ง

เลขาธิการ สศช. กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ล่าสุด ในไตรมาส 4 ปี 2562 มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอตัวลง 5.5% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 79.8% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือนในส่วนของคุณภาพสินเชื่อก็ด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 1 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.23% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.90% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง

ทั้งนี้ โครงสร้างหนี้ครัวเรือน 13.47 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 33.7% เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 32.1% เพื่อซื้อ/เช่าซื้อยานยนต์ 12.8% เพื่อการประกอบธุรกิจ 17.9% และอื่น ๆ 3.4%

“แนวโน้มไตรมาสแรกปีนี้ เริ่มเห็นการขอสินเชื่อเพื่อไปซื้อรถและซื้อบ้านลดลง เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตยังเพิ่มขึ้น เพื่อมาชดเชยเรื่องรายได้ที่หายไป ส่วนเอ็นพีแอลยังไม่ได้เพิ่มมากนัก” นายทศพรกล่าว

ทั้งหมดนี้ รัฐจะต้องมีมาตรการรับมือให้ทันท่วงที และแก้อย่างตรงจุด เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย