New Normal : ปทัสถานใหม่ ความปกติที่ไม่เคยปกติ (จบ)

ครอบครัวเย็น จิงชาง (Yen Jingchang) เมื่อ 40 ปีก่อน และในวันนี้

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย รณดล นุ่มนนท์

นับจากมีข้อตกลงลับของชาวนา 18 คน ในหมู่บ้านเสี่ยวกัง (Xiaogang) เมื่อเดือนธันวาคม 1978 ให้มีการแบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัว โดยสามารถเก็บผลผลิตส่วนเกินจากข้อกำหนดของรัฐไว้ในครัวเรือนตนเองได้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเสี่ยวกังได้เปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่ ถือเป็นแบบ “ปทัสถานใหม่” หรือ “new normal” ที่ทิ้งอดีตความขมขื่นไว้เบื้องหลัง

โทนี่ รีด (Tony Reid) บรรณาธิการวารสาร Selfie, China Plus’s Wang ได้มีโอกาสไปเยี่ยมหมู่บ้านเสี่ยวกัง เมื่อปี 2019 พบว่า สองข้างทางไปสู่หมู่บ้านยังคงเป็นพื้นที่เพาะปลูก มีรถเกี่ยวข้าวคันใหญ่วิ่งเก็บเกี่ยวข้าว บนพื้นที่แปลงใหญ่ ไกลสุดลูกหูลูกตา หน้าหมู่บ้านมีประตูเมืองใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่า ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นเรียงราย เป็นระเบียบทอดไปจนสุดแนวหมู่บ้าน ลี่ จิงซู (Li Jinzhu) หัวหน้าหมู่บ้าน ออกมาให้การต้อนรับ

จิงซูเล่าว่า ข้อตกลงลับทำให้เกิดการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ มีการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรเป็นสัดเป็นส่วน สามารถนำผลผลิตออกมาขายเป็นรายได้ของตนเอง เกษตรกรจึงตั้งใจทำงานกันอย่างแข็งขัน ออกไปทำนาตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เพียงช่วงเวลาข้ามปี ชาวเสี่ยวกังสามารถผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 15,000 กิโลกรัม มาเป็น 65,000 กิโลกรัม หรือกว่า 4 เท่าตัว ในขณะที่รายได้ต่อหัวเพิ่มจาก 20 หยวน มาเป็น 400 หยวน และนับจากนั้นเป็นต้นมา วิถีชีวิตและการทำงานของชาวเสี่ยวกังได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ดี นับจากปี 1990 จีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศโดยเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก สร้างให้จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมแทนภาคเกษตรกรรมแต่เดิม หมู่บ้านเสี่ยวกังที่อยู่ใจกลางประเทศ และเคยพึ่งพารายได้จากการเกษตรเป็นหลัก ไม่สามารถก้าวทันการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของประเทศได้ คน generation ใหม่ในหมู่บ้านพากันละทิ้งอาชีพเกษตรกรไว้ให้พ่อแม่ ตัดสินใจย้ายออกจากเมืองเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า ชาวเมืองเสี่ยวกังที่ยังคงอยู่ในเมืองเห็นพ้องกันว่า แม้การใช้ชีวิตแบบเสรีนิยมใหม่นับจากปี 1979 จะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน แต่เห็นได้ชัดว่า ฐานะและความเป็นอยู่มีความเหลื่อมล้ำจากคนในเมือง

จึงเกิดแนวคิดปรับ “แบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ” หรือ “ปทัสถานใหม่” (new normal) เป็นคำรบสอง โดยในปี 2013 คณะกรรมการหมู่บ้านได้กำหนดนโยบายพัฒนาหมู่บ้านไว้ 3 เรื่องหลัก คือ 1.ให้ชาวเสี่ยวกังสามารถโอนกรรมสิทธิ์ หรือให้เช่าพื้นที่นาของตนได้ 2.ปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ และ 3.พัฒนาเมืองเสี่ยวกังให้เป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยว

จิงซูได้นำโทนี่เยี่ยมชมเมือง ไปดูสัญญาฉบับประวัติศาสตร์ที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง และแนะนำให้รู้จักชาวเสี่ยวกัง 3 คน คนแรกเป็นสุภาพสตรี คือ เซน ยุน (Zeng Yun) เธอเล่าให้ฟังว่า เธอและชาวนาในละแวกนั้นได้ตัดสินใจมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับมหาวิทยาลัย Anhui Science and Technology เพื่อศึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงเป็ดบนพื้นที่แปลงใหญ่แทนการปลูกข้าว โดยยุนได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน เธอกับหลานสาว 2 ขวบยังคงทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า นำอาหารไปเลี้ยงเป็ด ในขณะที่สามีทำงานที่เหมืองใกล้ ๆ หมู่บ้าน ทั้งคู่มีรายได้มากกว่า 30,000 หยวนต่อปี เป็นรายได้เฉลี่ยของคนในหมู่บ้าน

คนที่สอง คือ เย็น จิงชาง (Yen Jingchang) หนึ่งในผู้นำชาวนา 18 คน ที่ร่วมกันทำสัญญาลับ ขณะนั้นจิงชางกำลังยุ่งอยู่กับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับประทานอาหารในร้านอาหารของตนเอง จิงชางบอกว่า เขาได้ตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ที่นาไปให้ผู้อื่น แล้วมาเปิดร้านอาหารในเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 700,000 คนในแต่ละปี ขณะที่ลูกชายที่เคยย้ายไปทำธุรกิจที่เมืองอื่น กลับมาเปิดร้านขายพืชผลทางการเกษตรผ่านอินเทอร์เน็ตออนไลน์

คนที่สาม ซาว มิงวา (Zhao Mingwa) หัวหน้าทีมเทคโนโลยีทางการเกษตร ของบริษัท Bedahung Group อธิบายว่า บริษัทได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (plant tissue culture) ทำให้สามารถปลูกสตรอว์เบอรี่และบลูเบอรี่เป็นพืชผลเพิ่มเติมจากที่เคยปลูกข้าวเป็นหลัก นอกจากนั้น บริษัทยังสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรจากการที่ชาวนาได้โอนกรรมสิทธิ์ หรือแบ่งที่ให้เช่ามารวมกันเป็นพื้นที่แปลงใหญ่

ท้ายสุด จิงซูบอกกับโทนี่ว่า รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเสี่ยวกัง ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมพื้นฐาน มาเป็นการทำเกษตรกรรมในรูปแบบใหม่ ชาวเมืองใฝ่ฝันที่จะมีธุรกิจเป็นของตนเอง และมีความคิดในลักษณะทุนนิยมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองเสี่ยวกังที่ยังคงอาศัยอยู่กว่า 4,000 คน ยังคงช่วยกันสานฝันของคณะชาวนาผู้บุกเบิก 18 คน เมื่อ 41 ปีที่แล้ว วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเสี่ยวกัง ในเกือบครึ่งศตวรรษ ถือเป็น “ปทัสถานใหม่” (new normal) เป็น “ความปกติที่ไม่เคยปกติ” อันเกิดจากกฎกติกาที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากธรรมชาติ เป็น new normal ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตแบบถาวร โดยไม่ย้อนกลับมาสู่รูปแบบเดิม

จึงชวนให้คิดว่า ชีวิตประจำวันอันเกิดจากพิษการระบาดของโควิด-19 ที่พวกเราต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจล ตรวจวัดอุณหภูมิรักษาระยะห่าง ประชุม online สั่งอาหาร delivery และอะไรอื่น ๆ ที่เกิดจากความตื่นตระหนกและความกลัว เมื่อเจ้าวายร้ายโควิด-19 หมดพิษไปแล้ว จะยังคงอยู่อย่างถาวรหรือไม่ หรือเราจะกลับไปสู่ชีวิตเดิม ๆ แบบ old normal เราต้องคอยดูกันต่อไป

แหล่งที่มา : 1/ Chinaplus.cri.cn. 2020. The Story Of Reform In Xiaogang Village. [online] Available at: [Accessed 9 May 2020]. 2/ https://www.youtube.com/watch?vaaa=bxoL8LaCRko