CPTPP ยังไม่แต่งก็แบ่งสินสมรส

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กษมา ประชาชาติ

การเข้าร่วมเจรจา “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ CPTPP กลายเป็นเรื่องราวบานปลายระดับประเทศขณะนี้ จำเป็นต้องรอมติ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” สรุปก่อนที่จะสิ้นสุดเดดไลน์ที่ไทยต้องยื่นขอเข้าร่วมในเดือนสิงหาคม 2563

ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ข้อดีหนึ่งของปมร้อน CPTPP คือ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยหันมาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าอย่างจริงจัง นำไปสู่การวิพากษ์ประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง หากเทียบกับการทำข่าว FTA เมื่อสักปี 254X

แต่ประเด็นที่ยังเหมือนเดิมไม่ว่านานเท่าไร คือ FTA ถือเป็นเรื่องที่คนสนใจมากแต่….เข้าใจน้อย เป็นเรื่องไกลตัว-ซับซ้อน เป็นวาทกรรมเชิงลบ หากใครแค่พูดว่าจะทำ FTA เหมือนทำอะไรที่ผิดบาป

ถ้าลองเปิดใจอ่านข้อมูลจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนแล้ว จะได้มุมมองที่เป็นประโยชน์อย่างมากหลายด้าน

ฝ่ายสนับสนุน นำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เห็นด้วย 100% ในการกระโดดร่วมเจรจา จากประโยชน์ “ตัวเลขเศรษฐกิจ” การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับกลุ่มประเทศเหล่านี้จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ปัจจุบัน CPTPP มีสมาชิก 7 ใน 11 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว คือ เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมประชากร 415.8 ล้านคน คิดเป็น 6% ของประชากรโลก และเป็นตลาดการค้าสัดส่วน 30% ของไทย ถ้าร่วม CPTPP จะยกระดับจีดีพีให้ขยายตัว 0.12% หรือมูลค่า 13.32 พันล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% มีมูลค่า 148.24 พันล้านบาท บลา ๆ

ขณะที่ฝ่ายคัดค้าน ภาคประชาสังคมชี้ว่า ไทยเสียเปรียบทุกประตู ทั้งการเปิดตลาดเป็นข้ออ้าง เพราะเราก็มีเอฟทีเออยู่แล้วกับ 9 ประเทศใน 11 ประเทศ เหลือแค่เม็กซิโกกับแคนาดาที่เราจะได้ตลาดเพิ่ม ส่วนการจดสิทธิบัตรนำไปสู่การผูกขาดสิทธิบัตรยา คนไทยต้องซื้อยาแพงขึ้น สูญเสียงบประมาณสาธารณสุขมากขึ้น

การบังคับให้ร่วมภาคี UPOV 1991 จะทำให้บริษัทเม็ดพันธุ์ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ เสียเงิน การแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ถึงไทย ทั้งที่ไทยเป็นเจ้าของสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายทางชีวภาพ การเปิดเสรีการลงทุนให้ความคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐบาลได้ตามข้อตกลงการใช้กลไกระงับข้อพิพาท

พอได้อ่านข้อมูลแล้วคล้อยตามทั้ง 2 ฝ่าย จนตัดสินใจไม่ได้เลย

เอาจริง ๆ การทำ CPTPP ก็ไม่ต่างจากการที่เราเอาตัวเองไปผูกพันกับอะไรบางอย่าง เทียบง่าย ๆ เหมือนการที่ตัดสินใจ “เลือกคู่”

นี่ขนาดแค่ขั้นแรก การสมัครเข้าร่วม CPTPP เหมือนการเปิดตัวว่าคบยังยากขนาดนี้ ยังไม่ถึงขั้นสู่ขอซึ่งต้องศึกษาดูใจคู่รักก่อน หรือถึงขั้นตัดสินใจแต่งแล้วก็ยังต้องเจรจาเรื่องสินสอดอีกหลายยก เพราะแต่งงานจดทะเบียนสมรสแล้วจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย

แต่ตอนนี้คนไทยยังไม่ได้ตัดสินใจคบเลย ก็กลัวไปไกลว่าจะ “หย่า” ซะแล้ว เพราะได้ยินเพื่อนบ้านบอกว่า คนนี้นิสัยไม่ดี…

การตัดสินใจคบเป็นเรื่องของเรา การตัดสินใจแต่ง มีเรื่องของผู้ใหญ่-ญาติของผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งยุ่งขึ้นไปอีก จะทำอย่างไรต่อไป เพราะถ้ายิ่งรอก็ยิ่งแก่ มีหวังต้องขึ้นคานไม่ได้แต่ง

ข้อเท็จจริงคือ แน่นอนว่า ถึงจะแต่งงานกันไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าบ่าว-เจ้าสาว จะดี จะถูกใจกัน 100%

ดังนั้น หากตัดสินใจจะคบแล้วก็ต้องดูว่า “ปรับจูน” ได้ไหม ในความสัมพันธ์นี้ต้องมีการให้และรับ Give and Take ในจุดที่เรารับได้

หากเจรจาแล้วมีคนอ่อนแอสู้ไม่ไหว ก็ต้องเตรียมพร้อมเยียวยาผู้ที่เสียประโยชน์โดยจัดตั้ง ‘กองทุน’ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี หรือถึงจะเปิดเสรีการค้า-การลงทุนแล้วก็ใช่ว่าจะเปิดรับทุกอย่างแบบไร้เงื่อนไขเลย ต้องเตรียมวาง “แนวกันชนภายใน” ให้เข้มแข็ง เช่น หากสินค้าหรือบริการใดไม่ได้ให้ประโยชน์ เราจะไม่เปิดตลาดได้หรือไม่ หรือสินค้าใดที่กระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยรวมจะไม่ให้นำเข้าได้ไหม หรือสินค้าใดที่ทะลักเข้ามาดัมพ์ตลาดไทย จะใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการเซฟการ์ดได้หรือไม่

และหากยังไม่พร้อมเปิดเสรีจริง ๆ เราจะ “ขอเวลานอก” เช่นที่สมาชิก CPTPP บางประเทศนำมาใช้ อย่างเวียดนาม-ญี่ปุ่น ขอเวลาปรับตัว 21 ปี เปิดตลาดในบางสินค้า, เม็กซิโก-เปรู-สิงคโปร์ ขอเวลา 16 ปี ปรับตัวสำหรับบางสินค้า หรือแคนาดาขอเวลาถึง 12 ปี ไทยขอได้หรือไม่

สุดท้ายหากมีปัญหารุนแรงถึงขั้นลงนามไปแล้ว เกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะใช้กลไกอะไรในการแก้ไขปัญหาได้บ้าง ถ้าต้อง “หย่า” เราจะแบ่งสินสมรสอย่างไร

ทั้งหมดนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เชื่อว่านักเจรจาของไทยมีประสบการณ์มากพอที่จะตอบคำถามสังคมได้ เพราะไทยผ่านการเจรจาความตกลงเอฟทีเอมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 ฉบับ มากกว่าบางประเทศใน CPTPP ด้วยซ้ำ

เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจ อย่าแบ่งแยกหรือมองถึงขั้นว่า CPTPP เป็นเรื่องผิดบาป มองเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเป็นจำเลยสังคมเลย เพราะทุกคนต่างก็เป็นคนไทย ไม่มีใครรักชาติน้อยกว่าใคร แต่การทำหน้าที่ทั้งหมดทุกคนต่างมีเป้าหมายก็เพราะ #รัก (ประเทศ) แหละดูออก