ใช้จุดแข็งประเทศแก้โจทย์ระยะยาว

จุดแข็งแก้โจทย์ประเทศ
(Photo by Romeo GACAD / AFP)

มาตรการกระตุ้นจับจ่ายปลุกเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 2563 “ช้อปดีมีคืน” ที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 (ศบศ.) เมื่อ 7 ต.ค. 2563 จากนี้ไปจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนประกาศใช้

เป็นเวอร์ชั่นใหม่ของ “ช็อปช่วยชาติ” ที่่ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ครั้งนี้โฟกัสที่คนชั้นกลางกับมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้าโอท็อป หนังสือ ฯลฯ

วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 ให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการ โดยนำใบเสร็จไปยื่นขอหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ไม่รวมการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ทองคำแท่ง บัตรของขวัญ แพ็กเกจทัวร์ ฯลฯ

มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่ 23 ต.ค.เป็นต้นไปจนถึง 31 ธ.ค. 2563 จูงใจให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อใช้จ่ายมากขึ้น ให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเพิ่ม โดยกระทรวงการคลังคาดหมายว่าช่วง 2 เดือนเศษหลัง “ช้อปดีมีคืน” เริ่มนับหนึ่งจนถึงปลายปีจะมีเงินเข้าสู่ระบบ 5.5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท และมาตรการคนละครึ่ง ที่รัฐช่วยจ่ายค่าสินค้าจากหาบเร่ แผงลอย 50% ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหว่านเงินกระจายวูบเดียวหาย แถมกลุ่มที่ได้ประโยชน์อาจไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและโควิด-19 รุนแรง แต่มองอีกมุมหลายประเทศทั่วโลกก็เลือกใช้วิธีแจกเงินใส่กระเป๋า อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เงินที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งขบคิดหาทางแก้โจทย์ประเทศในระยะยาว รองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในยุคที่โลกปรับเปลี่ยนสู่ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ new normal วิถีชีวิต การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

ทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ คือ การอาศัยจุดแข็งของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัยและการบริการทางการแพทย์ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเป็นแหล่งอาหาร ความหลากหลาย
ของแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังวิกฤต สร้างความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาวให้ได้