พรรคเพื่อไทย ขยับเพดานใหม่ ฟื้นแนวร่วมธนาธร ดันสุดารัตน์ พ้นอำนาจ

พรรคเพื่อไทย (พท.) หลังเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร เตรียมขึ้นเค้าโครงการเมืองใหม่ทุกด้าน ไม่รีบจัดทีมผู้ว่าฯ กทม. ลดบทบาทคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลงโดยปริยาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ในวันจันทร์ ที่ 12 ตุลาคม 2563  จะเป็นการประชุมนัดแรกหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 หลังจาก ทีม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ลาออก ทำให้ต้องล้างไพ่ เลือกกรรมการบริหารใหม่ รวม 24 คน

สำหรับวาระในการพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของพรรคเพื่อไทย ให้เป็นพรรคที่เปิดกว้าง ให้มวลชน และแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน เข้ามาเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกันมากขึ้น โดยเน้นย้ำให้ทีมแกนนำในการบริหารต้องยึดหลัก 2 ข้อ คือ มีความเมตตา และมีความเป็นลีดเดอร์ชิป พร้อมกับต้องมีความเจนจัดทางการเมือง

“สวนทางกับบทบาท ที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เคยทำ คือเป็นคู่แข่งกับพรรคแนวร่วม และไม่เปิดทางเข้าหามวลชน ที่เคยเป็นฐานเสียงฝ่ายประชาธิปไตย” แหล่งข่าวจากกรรมการบริหารพรรครายหนึ่งกล่าว

โดยนับจากนี้คาดว่าบทบาททางการเมืองในพรรคเพื่อไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ ก็จะลดลงอย่างมาก แทบไม่มี ส่วนที่คุณหญิงสุดารัตน์ เคยระบุว่าต้องทำหน้าที่สรรหา ผู้สมัครและทีมผู้บริหาร ผู้ว่าฯ กทม. นั้น แกนนำพรรคในโครงสร้างอำนาจใหม่ ให้ความเห็นว่า กว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คงอีกนาน คงจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบในการจัดทีม และหากเปิดตัวเร็ว ก็อาจจะช้ำ และยังไม่ถึงเวลาที่ต้องทำภารกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ในโครงสร้างพรรคใหม่ จะ “ตัดตำแหน่งประธานภาค” ออก เป็นการละลายโครงสร้าง ให้เป็นทีมเดียวกันมากขึ้น

สำหรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคจำนวน 10 คน ซึ่งแบ่งเป็นโควตาภาคต่าง ๆ ปัจจุบัน ประกอบด้วย

โควตากลาง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ชูศักดิ์ ศิรินิล พิชัย นริพทะพันธุ์ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

โควตาอีสาน เกรียง กัลป์ตินันท์ หัวหน้ากลุ่ม ส.ส.อีสานใต้ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม โควตา กทม. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

โควตาภาคเหนือ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์

นอกจากนี้จะตั้งทีม “คณะผู้บริหาร” ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ส่วนที่ 4 ข้อที่ 58-61 ที่ระบุว่า มีหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค รวมไม่เกิน 11 คน

และแบ่งทีมทำงานเป็นด้านต่าง ๆ อีก 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านงานสภาผู้แทนราษฎร ด้านข่าวกรอง และด้านการบริหารพื้นที่

โดยพรรค เตรียมจัดหาบุคคล ที่เคยเป็นแนวร่วมกับพรรค และเป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่เป็นลูกหม้อแท้ ๆ ของพรรค ลงรับสมัครเลือกตั้ง นายกฯ อบจ. แต่จะไม่ส่งผู้สมัครทั้ง 76 จังหวัด มุ่งปักธงเฉพาะจังหวัดที่พรรคมีฐานเสียงจัดตั้ง และมั่นใจว่าส่งลงรับสมัครแล้วได้รับชัยชนะ เน้นกลุ่มจังหวัดที่เป็นเมืองหลวงของเพื่อไทย เช่น ภาคอีสาน และภาคเหนือ

สำหรับวาระการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรค จะลงไปเป็นแนวร่วมกับกลุ่มมวลชนต่าง ๆ อาทิ กลุ่มนักเรียนเลว ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดเชิงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ต่อจากยุคที่ไทยรักไทย เคยจัดการปฏิรูปในกระทรวงศึกษาธิการไว้แล้ว

นอกจากนี้จะมีการจัดความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เช่น กลุ่มก้าวหน้า ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำ ร่วมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรคก้าวไกล (กก.) นั้น จะมีการเปิดเจรจารอบใหม่และทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะถือว่าเป็นนักการเมืองในลู่เดียวกัน แต่ไม่ได้ถือเป็นคู่แข่งกัน ทั้งใน-นอกสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนสถานภาพของ “กลุ่มแคร์” จะยังคงเป็น Think Tank กับพรรคเพื่อไทย เป็นจุดเชื่อมระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาชีพ ต่าง ๆ กับพรรค ซึ่งจะเปิดทางให้บุคคลที่สนใจการช่วยเหลือบ้านเมือง แต่ไม่อยากเล่นการเมือง ได้ร่วมงานกันอย่างลงตัวมากขึ้น

พรรคเพื่อไทยเตรียมจัดเวที ร่วมกับมวลชนรุ่นเด็ก ที่คาดว่าจะทำให้เรตติ้งกระฉุด…อีกครั้ง