แก้ฝุ่นพิษ สะท้อนมาตรการรัฐล้มเหลว

นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังสร้างปัญหาต่อเนื่อง นับวันผลกระทบยิ่งขยายวงกว้าง แม้ระยะสั้นอาจไม่รุนแรงและอันตรายต่อชีวิตเท่าโควิด-19 แต่เหมือนตายผ่อนส่ง เนื่องจากมีผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพร่างกายในระยะยาว

ที่ผ่านมาปัญหา PM 2.5 วิกฤตหนักตามฤดูกาลทุกปีในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ผลพวงจากการเผาป่า เผาวัสดุการเกษตร เผาในที่โล่ง ฯลฯ ทั้งภายในประเทศ แนวชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน แต่หลายปีติดต่อกันที่ฝุ่นควัน PM 2.5 และ PM 10 เกิดขึ้นรุนแรงเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

สะท้อนภาพการทำงานและการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ามุ่งแก้ปัญหาโดยเน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ตั้งคณะทำงาน มีการประชุมหารือ จัดทำแผนสารพัด แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกลับไร้ action plan ไปสู่การปฏิบัติจริง

วิกฤตฝุ่นพิษล่าสุดขณะนี้ยิ่งเห็นได้ชัด เพราะแม้ปัญหาดังกล่าวซึ่งเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปลายปี 2563 ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าสู่ต้นปี 2564 จากปัจจัยสภาพภูมิอากาศและการเข้าสู่ฤดูกาลเผา ปรับพื้นที่ทางการเกษตร ผสมผสานกับฝุ่นควันจากยานพาหนะ โรงงาน การก่อสร้าง ฯลฯ แต่รัฐไม่ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน และเตรียมการรับมือที่ดีพอ ยังวิ่งตามปัญหาเหมือนทุกครั้ง

การยกระดับมาตรการป้องกันฝุ่นละอองควันพิษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 12 ก.พ. 2562 กับมติที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 23 ม.ค. 2563 ที่ให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

ปริมาณฝุ่นควันพิษในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลหลายพื้นที่ที่เกินค่ามาตรฐาน คือรูปธรรมของปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้หลายคนอาจมองว่าปีนี้สถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าปีก่อน แต่ในความเป็นจริงการแพร่ระบาดของโควิดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลงมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สถานประกอบการ การใช้ยานพาหนะขนส่งสินค้า การเดินทาง ฯลฯ แทนที่ฝุ่นควันพิษจะลดน้อยลงแต่กลับตรงกันข้าม

จึงน่าห่วงว่าถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ฝุ่นพิษจะยิ่งวิกฤตกระทบการดำเนินชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวแหล่งรายได้หลักและความหวังของประเทศ

การขับเคลื่อนแผนและมาตรการแก้ฝุ่นควันพิษระยะสั้นระยะยาว ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วจริงจัง ทั้งบังคับใช้กฎหมาย ปลุกจิตสำนึก มาตรการจูงใจ ลบภาพเมืองเปื้อนฝุ่น สร้างอากาศดีเพื่อคนไทยและผู้มาเยือนแทนที่