บทบาทไทยหลังรัฐประหารในเมียนมา

Photo by AFP
บทบรรณาธิการ

เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาผ่านไปสัปดาห์เศษ แม้กองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา จะกุมอำนาจการบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จ โดยนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศ นายอู วิน มินต์ ประธานาธิบดี กับนักการเมืองอีกหลายคนยังถูกควบคุมตัว แต่กระแสต่อต้านเริ่มขยายวงไปทั่วประเทศ

สำหรับปฏิกิริยาจากนานาชาติ หลังสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป ญี่ปุ่น ออกโรงประณามการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังพยายามกดดันกองทัพเมียนมาต่อเนื่อง ขณะที่สมาชิกอาเซียนต่างสงวนท่าที โดยสิงคโปร์ กับอินโดนีเซีย ขอให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแก้ไขข้อขัดแย้งโดยหลักกฎหมาย ส่วนมาเลเซียเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี กับพวกที่ถูกควบคุมตัวให้เป็นอิสระ

ถึงตอนนี้สถานการณ์ภายในเมียนมามีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น ประชาชน นักศึกษา พระภิกษุ ฯลฯ รวมตัวกันเคลื่อนไหว จุดกระแสต่อต้านรัฐประหารทั้งในย่างกุ้ง กรุงเนย์ปิดอว์ กับอีกหลายเมือง แม้จะชุมนุมโดยจัดกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์ อารยะขัดขืน แต่ทั่วโลกจับตามองด้วยความเป็นห่วง เกรงจะเกิดการกระทบกระทั่งจนเหตุการณ์บานปลายไปสู่ความรุนแรง

ในส่วนของไทยซึ่งมีแนวชายแดนติดกับเมียนมากว่า 2.4 พันกิโลเมตร แม้ไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากรัฐประหารในเมียนมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาอาจส่งผลทั้งด้านบวกและลบกับเศรษฐกิจการค้า และการเมืองในเวทีนานาชาติ ไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวและวางบทบาทให้สอดรับกับสถานการณ์ และกฎกติการะหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน เรื่องสำคัญเฉพาะหน้าอย่างการค้าชายแดนเมียนมา-ไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ในภาคเหนือ กลาง และใต้ ตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง หลังเกิดการรัฐประหารแม้ได้รับผลกระทบแค่ช่วงสั้น ๆ แต่ยังต้องติดตามข่าวคราว และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากด้านเศรษฐกิจ และการค้าชายแดนที่แต่ละปีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว นักธุรกิจ นักลงทุนไทยจำนวนไม่น้อยที่ขยายฐานการลงทุนเข้าไปในเมียนมา และไทยต้องพึ่งพาแรงงานชาวเมียนมาหลายแสนคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรม สองประเทศจึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ไทยในฐานะเพื่อนบ้าน และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอาเซียนที่มีเมียนมารวมอยู่ด้วย จึงอาจต้องผนึกกำลังอาเซียนร่วมแก้ปัญหาหาทางออกแบบสันติให้ทุกฝ่ายยอมรับ แสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนให้ทั่วโลกประจักษ์