ศก.เมียนมาหลังรัฐประหาร เสี่ยงต่อการดิ่งเหว !

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การตัดสินใจในทางการเมืองเพียงชั่ววูบ สามารถส่งผลกระทบในทางลบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งประเทศได้ในทันที

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีที่นายพล มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ตัดสินใจทำ “รัฐประหาร” ประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี ยึดเอาอำนาจอธิปไตยของทั้ง 3 อำนาจ มาอยู่ในกำมือตัวเองเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลสะเทือนทันทีต่อโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมา

ไม่ว่าจะเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ จากประเทศไทยในพื้นที่ชานเมืองของนครย่างกุ้ง หรือ โครงการพัฒนาเหมืองเงิน, สังกะสี และตะกั่ว ในรัฐฉานของบริษัทเหมืองแร่จากเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย สั่งยุติโครงการทันทีที่ข่าวการยึดอำนาจแพร่สะพัด

ญี่ปุ่น คู่ค้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเมียนมา ก็อาจได้รับผลกระทบจากการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ แม้บริษัทญี่ปุ่นบางรายอาจตัดสินใจทำธุรกิจต่อไป แต่อีกไม่น้อยก็แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมาออกมาในทางลบ และยอมรับว่า ในระยะสั้นการยึดอำนาจทำให้ทำธุรกิจได้ลำบากขึ้น

ตัวอย่างเช่น บริษัทซูซูกิ ผู้ผลิตจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น ตัดสินใจระงับการผลิตในโรงงานผลิต 2 แห่งที่เมียนมาทันทีที่เกิดการรัฐประหาร โรงงานทั้งสองผลิตจักรยานยนต์ได้ 13,300 คัน เมื่อปี 2019 เป็นการผลิตขายในเมียนมาเกือบทั้งหมด

บรรดาบริษัทสัญชาติตะวันตกยิ่งไม่ต้องพูดถึง ประธานาธิบดีสหรัฐ “โจ ไบเดน” ออกมาแสดงท่าทีว่า อาจจะนำเอาการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาโดยรวม ซึ่งเพิ่งยกเลิกไปเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี่เอง กลับมาใช้เล่นงานรัฐบาลทหารอีกครั้ง

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การแซงก์ชั่นแบบกำหนดเป้ารายบุคคล โดยเฉพาะต่อนายทหารเมียนมา ถูกนำมาใช้ครบถ้วนตั้งแต่เกิดกรณี “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮีนจา ในรัฐยะไข่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2017

ทำนองเดียวกับที่ สหภาพยุโรป กำลังใคร่ครวญว่า มาตรการ “อีโคโนมิก เอ็มบาร์โก” คือการห้ามซื้อขายสินค้าโดยสิ้นเชิงกับเมียนมา จะเหมาะสมหรือไม่

มาตรการลงโทษระหว่างประเทศเหล่านั้นอาจยังมาไม่ถึง แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่กำลังเบ่งบานในเมียนมา และก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 700,000 คน กำลังสุ่มเสี่ยงสูงมาก

แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก อาทิ เอชแอนด์เอ็ม, แก๊ป, อดิดาส เพิ่งแห่กันมาเปิดโรงงานผลิตในแถบชานเมืองนครย่างกุ้งเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเมียนมาบูมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นกอบเป็นกำ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3% ของจีดีพีเมียนมาเลยทีเดียว

นักธุรกิจเอกชนชาวเมียนมารายหนึ่งบอกว่า ต้องทำใจยอมรับความเป็นจริง เพราะแบรนด์ดังระดับนานาชาติเหล่านี้ล้วน “อ่อนไหว” เป็นพิเศษกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

หลาย ๆ แบรนด์ดังถึงกับถือว่า นี่คือโอกาสทำ “พี.อาร์.” ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี การถอนตัว ยกเลิกคำสั่งซื้อ จากเมียนมาจึงเป็นไปได้สูงยิ่ง

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การตัดสินใจทำรัฐประหารหนนี้ก็ทำร้ายเศรษฐกิจเมียนมาสาหัสมาก เพราะแม้ไม่มีรัฐประหาร โควิด-19 ก็เล่นงานทั้งประเทศอ่วมอรทัยอยู่ก่อนแล้ว ชนิดที่ทำให้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องจัดทำชุดความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินให้กับเมียนมามูลค่า 350 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

รายงานของธนาคารโลกล่าสุดบอกว่า วิกฤตโควิด-19 อาจทำให้การว่างงานซึ่งสูงอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้นไปอีก ผลก็คือจำนวน “ครัวเรือนที่เปราะบาง” ในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยสรุปก็คือ ผลงานการเอาชนะความยากจนของเมียนมาที่เคยทำได้ใน 10 ปีหลังมานี้อาจหายไปจนหมดสิ้น

มีเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่อาจได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารในเมียนมา นั่นคือประเทศจีน “ฟรองซัวส์ นิโกลา” ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของ สถาบันด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งฝรั่งเศส เชื่อว่า การรัฐประหารหนนี้จะผลักดันเมียนมาให้เข้าหา “อ้อมแขน” ของจีนมากขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่นายทหารในกองทัพเมียนมาก็อาจเป็นกลุ่มก้อนธุรกิจเดียวที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนี้ได้มากขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวอย่างถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย ผิดธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศก็ตาม