ค่าระวางเรือแพง สะเทือนถึงเกษตรกร

ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

ภาพรวมการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกที่เติบโตเกือบ 5% เกินกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ 4% ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มใจชื้นว่าการส่งออกจะมาเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่รายได้การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศหดหายไป

โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดี จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานและใช้ชีวิตอยู่บ้าน (work from home) เช่น พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยาง และยังมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิต อย่างวัตถุดิบเม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้า

ซึ่งเป็นผลจากตลาดส่งออกเกือบทุกตลาดขยายตัวในระดับสูง หลังจากที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีการฟื้นการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยตลาดที่เติบโต

แน่นอนว่าภาพรวมอัตราการส่งออกเติบโตทำให้ไทยเริ่มมีหวัง แต่เมื่อย้อนกลับไปถามผู้ส่งออกกลับยัง “หวั่นไหว” เพราะอัตราการส่งออกเติบโตสูงขึ้นก็จริง แต่ “ต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก” ของผู้ประกอบการก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

โดยปัจจัยหลักที่พวกเขากังวลมาจากปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4-5 เท่า ซึ่งมีต้นตอมาจากช่วงโควิดปีก่อน ทำให้การส่งออกซบเซา การหมุนเวียนเรือในการค้าระหว่างประเทศน้อยกว่าปกติ ผู้ผลิตส่วนใหญ่ในเอเชียส่งของไปขายที่สหรัฐ หรือยุโรป แล้วเรือก็จะไปตกค้างที่ท่าเรือปลายทางนาน ๆ เพราะไม่มีสินค้าส่งคืนกลับมา

และพอมีเรือกลับมาแต่ละครั้ง ทั้งผู้ส่งออกไทย เวียดนาม จีน ก็ต้องแย่งชิงเรือกัน นั่นจึงผลักดันให้ราคาค่าระวางเรือสูงขึ้น ๆ จนปรอทแตก

ที่สำคัญ ความเดือดร้อนนี้จะกระทบมาก ๆ ในบางสินค้าที่มีราคาถูก นั่นคือ “สินค้าเกษตร” ต้องยอมจ่ายแพงขึ้น ๆ

จนถึงปัจจุบันหากเทียบต้นทุนค่าระวางเรือแล้วแพงกว่าค่าต้นทุนสินค้าของพวกเขา เรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะส่งออกเพื่อรักษาลูกค้า ก็ต้องกลืนเลือดแบกรับต้นทุนค่าระวาง เช่น ตู้ขนาด 20 ฟุต เคยมีค่าระวางเพียง 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐ ก็พุ่งขึ้นไปถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ หารออกมาแล้วเฉลี่ยต้นทุนขนส่งตันละ 500 เหรียญสหรัฐในขณะที่พวกเขาสามารถขายข้าวได้เพียงตันละ 800 เหรียญสหรัฐ หรือ 24,000-25,000 บาท ซึ่งคิดทอนกลับมาเป็นต้นทุนการรับซื้อข้าวเปลือกจะเหลือแค่ 11,000-12,000 บาท หรือหากเทียบราคาข้าวเปลือกเป็นเงินดอลลาร์ ก็จะมีต้นทุน 300-400 เหรียญ ขาดทุนแน่นอน แต่ถ้าไม่ส่งออกก็เสียลูกค้า

คิดง่าย ๆ ทางออกสำหรับผู้ส่งออกทั่วไป ก็แค่ “ขึ้นราคา” แต่สำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าอาหาร การปรับขึ้นราคาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้ากลุ่มนี้แข่งขันด้วยราคา ถ้าเราขายแพง ลูกค้าก็หันไปซื้อจากคู่แข่งที่ขายถูกกว่า ทำให้ไทยก็เสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกที่รักษามานานเป็นสิบ ๆ ปี และในอนาคตหากลูกค้าติดใจข้าวคู่แข่ง ก็เปลี่ยนใจถาวรเลย อนาคตข้าวไทยก็เสร็จละทีนี้

หรือถ้าอย่างนั้นก็แก้ปัญหา ด้วยการ “ลดต้นทุน” นั่นหมายถึง การลดราคารับซื้อข้าวเปลือกลงไปอีก

หากเลือกใช้วิธีการนี้ ผู้ส่งออกอาจจะรอด แต่ “ชาวนาและโรงสี” ไม่รอด แถม “รัฐบาล” ต้องมาแบกรับภาระจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นอีก ลองคำนวณดูว่า หากรัฐบาลตั้งราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท โรงสีซื้อในราคาตลาด ตันละ 12,000 บาท เพื่อให้ผู้ส่งออกไปขายได้ ตันละ 800 เหรียญสหรัฐ

จะเห็นว่าส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 3,000 บาท นั่นแหละคือเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายช่วยอุ้มเกษตรกร และหากไทยปลูกข้าวหอมมะลิปีละ 8 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตข้าวทุกชนิดรวม 29 ล้านตัน

เท่ากับว่ารัฐบาลก็ต้องเตรียมเงินไว้ชดเชยราคาข้าวหอมมะลิ 24,000 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย

และหากราคาข้าวทุกชนิด 29 ล้านตัน มีส่วนต่างราคาอย่างนี้ “ก้อนเงินประกันรายได้” ที่รัฐบาลจะต้องเตรียมไว้มากเพียงใด

วันนี้รัฐต้องคิดข้ามชอตไปแล้วว่า จนถึงปลายปีซึ่งเป็นช่วงพีกของการส่งออก หากปัญหาตู้เรือยังไม่คลี่คลาย และผลกระทบลามไปถึงสินค้าเกษตรส่งออกชนิดอื่นจะแก้ไขกันอย่างไร