แก้วิกฤตวิ่งตามปัญหา โควิดยิ่งลาม

Photo by REUTERS
บทบรรณาธิการ

การประกาศขยายล็อกดาวน์จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 2 ส.ค. ออกไปถึง 31 ส.ค. 2564 แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นอาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการก่อนครบกำหนด พร้อมเพิ่มโซนสีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อ 1 ส.ค. ชี้ให้เห็นว่าโควิดวิกฤตรุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะยอดผู้ติดเชื้อใน 16 จังหวัด ที่ถูกล็อกดาวน์เพิ่มเติม คุมเข้มการเดินทาง การเคลื่อนย้าย ห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด ฯลฯ ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ปราจีนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาการติดเชื้อคลัสเตอร์โรงงานพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

แม้อาจไม่รุนแรงเท่า กทม.-ปริมณฑล แต่ระบบสาธารณสุขที่ขีดความสามารถรองรับผู้ป่วยมีจำกัดมากกว่า แพทย์ พยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักขึ้น การให้การสนับสนุนช่วยเหลือจากส่วนกลาง รวมทั้งฝ่ายการเมืองในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการตรวจเชื้อเชิงรุก ควบคู่กับปรับแผนบริหารจัดการด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ก่อนถึงวันที่ 18 ส.ค. ซึ่ง ศบค.จะประเมินและทบทวนมาตรการล็อกดาวน์ตามสถานการณ์ จึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสปีดการทำงาน ยับยั้งการแพร่ระบาด กดตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งประเทศให้อยู่ในระดับที่บุคลากรด่านหน้ารับไหว แต่ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าโอกาสที่โควิดจะคลี่คลายยังต้องใช้เวลา ผู้ติดเชื้อรายวันไม่ลดลง ต้องยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้นก็ต้องรีบตัดสินใจ

แม้การล็อกดาวน์ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ การปิดสถานประกอบการและกิจการที่มีความเสี่ยง จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ การค้า แต่การรักษาชีวิตและสุขอนามัยประชาชนสำคัญกว่า ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขชี้ว่าหากเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% เป็น 25% จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันถ้าบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิดคาดหวังผลได้มากกว่าเดิม สถานพยาบาล ยา บุคลากรด่านหน้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ การกระจายฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนไม่สะดุดหยุดลงซ้ำ วิกฤตคลี่คลาย ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ฟื้นความเชื่อมั่น ปลุกการค้า การลงทุน ภาคการท่องเที่ยวให้กลับมากระเตื้อง ประเทศจะฟื้นจากวิกฤต เศรษฐกิจในภาพรวมจะขับเคลื่อนต่อได้เร็วขึ้นเท่านั้น