บทเรียนที่สำคัญ

รุ่งโรจน์
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

เมื่อเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ดิสรัปต์ทุกสิ่ง ใครปรับตัวได้เร็วกว่ามีโอกาสมากกว่า

ดังคำกล่าวที่ว่า “ปลาเร็วกินปลาช้า” ในวิกฤตโควิด-19 ก็ด้วย แต่ไม่ว่าจะปลาใหญ่หรือปลาเล็กต่างได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า

ในงานสัมมนาแห่งปีของประชาชาติธุรกิจ หัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” เมื่อเร็ว ๆ นี้ แม่ทัพเอสซีจี “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” พูดถึงบทเรียนสำคัญจากวิกฤตโควิด-19 ว่า คือ การปรับตัวอย่างรวดเร็ว

พร้อมกับฉายภาพให้เห็นถึงเทรนด์ที่จะพลิก “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส” ได้ว่า ประกอบด้วย 4 เทรนด์ คือ 1.การนำระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้ ทั้งจากปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือแรงงานติดโควิด

ส่งผลให้การทำงานขาดความต่อเนื่อง แต่ลูกค้ามีความต้องการหลากหลายขึ้น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้จึงเป็นความจำเป็นพื้นฐานเพื่อให้ดำเนินงานมีความต่อเนื่องทำงานที่ซับซ้อน ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้

2.โควิดเร่งให้ “อีคอมเมิร์ซ” เกิด และเติบโตรวดเร็ว

3.เทรนด์สมาร์ทฟาร์มมิ่ง คนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมแล้วหันไปทำการเกษตร คนกลุ่มนี้ยอมรับเทคโนโลยีทำให้สมาร์ทฟาร์มมิ่งเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ

และ 4.การก่อสร้างที่คำนึงถึงความยั่งยืน (green construction) การนำเทคโนโลยีมาใช้วางแผนออกแบบการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพ มีของเสียน้อยที่สุด ทำให้โครงการใหญ่ ๆ จัดระเบียบการจราจร ลดความเดือดร้อนให้ชุมชนใกล้เคียงไซต์ก่อสร้างลงได้ คุณภาพงานก่อสร้างดีขึ้น ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“เอสซีจี” มองเห็นโอกาสจาก 4 เทรนด์นี้ และหวังว่าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการจะมองเห็นโอกาส และเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มด้วยเพื่อสร้างโอกาส ช่วยให้เกิดการปรับตัว และฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิดผ่านพ้นไปได้

เมื่อวิกฤต “โควิด” ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนไป แม่ทัพเอสซีจีย้ำว่า หากยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ความสามารถในการแข่งขันก็จะเท่าเดิม ซึ่งหมายถึง “ลดลง” นอกจากไม่เติบโตขึ้นแล้ว ตลาดก็จะหดตัวลงไปด้วย

“เราโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรงเหมือนธุรกิจอื่น ในทางกลับกัน ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้รับผลเชิงบวกจากการซื้อขายผ่าน e-Commerce ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น ธุรกิจเคมิคอลเองก็บริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ความต้องการสินค้าประเภทพลาสติกก็มากขึ้น ส่วนการก่อสร้างอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบบ้าง แต่สิ่งที่เห็นชัดเจน และเป็นบทเรียนสำคัญ คือ การปรับตัวอย่างรวดเร็ว”

และว่า ถ้าไม่เร็วก็อยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะการเข้าสู่ “อีคอมเมิร์ซ”

“เราไม่เคยคิดว่าตัวแทนของเราที่อายุเยอะ ๆ 60-70 จะปรับตัวนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในการทำตลาด และการกระจายสินค้าได้ ช่วงวิกฤตโควิดใหม่ ๆ เราเซตซีโร่ทุกสิ่งใหม่หมด เพื่อดูว่าหลายสิ่งที่วางไว้จะยังเหมาะไหมเมื่อพ้นโควิด”

อีกส่วนอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่โดยส่วนตัวมองว่าใหญ่ คือ เรื่อง “คน” เมื่อเจอวิกฤต พนักงานมีวิธีการทำงาน มีวิธีตอบรับอย่างไร เรื่องลีดเดอร์ชิปของน้อง ๆ ในทีม และการปรับรูปแบบการทำงานเป็น “เวิร์กเพลซ ไฮบริด” รวมไปถึงการรับคน-รับพนักงานใหม่ที่จะต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น และมีการ WFH

“WFH” ทำให้การสร้างทีมเวิร์กระหว่างพนักงานด้วยกันไม่ง่าย คือด้านลบก็มี เพราะเราไม่สามารถทำหลายเรื่องพร้อมกัน แต่โดยรวมแล้ว คิดว่า “ในวิกฤตเป็นโอกาสเสมอ” และยังเป็นทางเลือกที่จะถือว่าเป็น “วิกฤตหรือโอกาส” ก็ได้

แม่ทัพเอสซีจี เปรียบ “โควิด” เหมือนโรคร้ายแรง ทำให้เราป่วยหนัก แต่ก็ผ่านมาได้ เอาตัวรอดได้ แต่มีคำถามที่เราต้องถามตัวเองเหมือนกันว่า “เมื่อผ่านมาได้แล้ว เราจะใช้ชีวิตแบบเดิมไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การออกกำลังกาย เราจะใช้เป็น โอกาสทำให้แข็งแรง และเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร”