ภาษีคือคำสั่งทางอ้อม : เครื่องมือรัฐช่วยขับเคลื่อนสังคม

คอลัมน์ นอกรอบ โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

เข้าใจว่าภาษีที่ดินแบบใหม่ที่บังคับใช้จะกระทบกระเทือนจิตใจหลายคนทีเดียว อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินที่ต่างกัน ระหว่างที่ดินที่ใช้ทำประโยชน์กับที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีความจำเป็นจริง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งน่าจะถูกต้องตามหลักทฤษฎีที่ต้องการกระจายการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คงเหลืออย่างเดียว คืออัตราภาษีที่กำหนดนั้น จะสะท้อนหรือผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์การกระจายการถือครองได้หรือไม่ เท่านั้น

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาษีทำอะไรได้หลายอย่าง ในฐานะที่เป็น เครื่องมือของรัฐ รัฐสามารถใช้ภาษีเป็นเครื่องมือได้เสมอ และอาจดีกว่าการสั่งให้กระทำ หรือห้ามกระทำ หรือดีกว่าการออกกฎหมายมาบังคับการกระทำโดยตรง

มีเรื่องอื่น ๆ ที่ภาษีทำอะไรได้อีกมาก เช่น สมมติรัฐต้องการให้สังคมปลอดภัย อยากให้คนทำอาชีพสุจริตมากขึ้น ก็มีวิธีการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ โดยรัฐอาจให้คนที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง เมื่ออายุครบ 60 ปีแล้ว จะได้เงินบำนาญหรือเงินสวัสดิการ หรืออะไรก็แล้วแต่ จากรัฐเป็นรายเดือน เป็นจำนวนตามความเหมาะสมกับเงินภาษีที่คนนั้น ๆ ส่งให้รัฐ

วิธีนี้เป็นการดึงให้คนมาทำอาชีพสุจริตด้วย เพราะอาชีพสุจริตเท่านั้นที่จะรู้ที่มาที่ไปของเงินที่นำมาเสียภาษี ถ้าคนนิยมมาก ๆ เข้า สังคมจะดีขึ้น เพราะเขารู้ว่าเมื่อทำอาชีพสุจริตและเสียภาษีให้รัฐ เมื่อยามชราภาพแล้วจะได้รับเงินสวัสดิการ มีชีวิตที่ดีงามอย่างสง่าผ่าเผยเพื่อให้ได้สวัสดิการมากพอแก่การดำรงชีวิตเมื่อชราภาพ รัฐอาจต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% หรือ 9-10% ก็ตามแต่ ขอเพียงให้ได้ความชัดเจนแน่นอน ว่าเงินภาษีเหล่านั้นจะจัดให้เป็นเงินสวัสดิการหรือบำนาญ หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีในยามชราภาพ อย่างเพียงพอและเป็นธรรม น่าจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมายังไม่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ แต่คิดว่าน่าจะเหมาะสำหรับสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกที เพราะว่าผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคราชการหรือเอกชน หากเสียภาษีให้แก่รัฐมาต่อเนื่องอย่างน้อย 25 ปี เขาควรได้รับอะไรตอบแทนบ้าง

ดังนั้นเมื่อเห็นภาษีอะไรใหม่ ๆ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ดูเหตุและผลของเรื่องเสียก่อนว่า รัฐกำลังพยายามทำอะไร บางทีความพยายามทำอะไรที่ยาก ซึ่งยังไม่เคยประสบผลสำเร็จมาก่อนนั้นอาจจะสำเร็จได้ด้วยวิธีการทางภาษีก็เป็นได้ ขออย่างเดียวให้เป็นไปตามทฤษฎีของภาษี คือมีเหตุผลและความเป็นธรรมทางภาษี ก็เป็นการเพียงพอหรือตัวอย่างอื่น เช่น หากรัฐไม่สบายใจกับการใช้รถตู้เป็นรถโดยสารสาธารณะ จะให้ใช้มินิบัสเป็นรถโดยสารแทนรถตู้ การที่รัฐจะใช้กฎหมายบังคับ อาจทำได้ยากและมีการต่อต้านมาก รัฐอาจใช้วิธีทางภาษีแทน โดยอาจเก็บภาษีรถตู้มากกว่าเดิม ในขณะที่เก็บภาษีจากมินิบัสมาทำเป็นรถโดยสารสาธารณะในอัตราที่ต่ำมาก ๆ เชื่อว่าในที่สุดผู้ประกอบการจะหันมาใช้มินิบัสมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติ

Advertisment

ภาษียังทำได้อีกหลายเรื่อง อย่างการจราจร หากรัฐต้องการแก้ปัญหาจราจร แล้วสั่งให้คนในกรุงเทพฯใช้รถส่วนตัวให้น้อยลง หันมาใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น รัฐอาจสั่งไม่ได้ เพราะจะกระทบสิทธิและเสรีภาพอีกหลายประการ แต่ถ้ารัฐใช้ภาษีเป็นเครื่องมือแล้ว อาจได้ผลคล้าย ๆ กัน คือเป็นคำสั่งทางอ้อม ให้คนทำตามที่รัฐต้องการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาด แต่เป็นการจูงใจโดยใช้คุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นแรงกระตุ้น หรือถ้ารัฐต้องการให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ในทางภาษี สิ่งที่ทำได้คือรัฐอาจมีกฎเกณฑ์ที่ให้การสนับสนุนคนที่ไม่ถือครองรถ ด้วยการให้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ด้วยเหตุผลที่ว่าคนที่ไม่ใช้รถส่วนตัวนั้น ช่วยเหลือบ้านเมืองให้การจราจรติดขัดเบาบางลง และช่วยเหลือให้ลดการปล่อยก๊าซมลพิษ

มาตรการทางภาษี เป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลดีแทบทุกกรณี เพราะภาษีคือสิ่งที่คนเรานึกถึงอยู่เสมอ สำหรับทุกคนทุกกลุ่ม ทั้งคนที่มีรายได้ไม่สูง รายได้ปานกลาง และคนที่มีรายได้สูง อาจใช้อัตราลดหย่อน หรืออัตราเพิ่มที่ไม่ต้องเท่ากันก็ได้

Advertisment

ประเด็นอื่น ๆ เช่น ถ้ารัฐเห็นว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯมีน้อยเกินไป กรุงเทพฯมีถนนไม่เกิน 10% ของพื้นที่ ในทางทฤษฎีควรมีถนนในเขตเมืองในอัตราส่วน 30% ถ้าจัดระบบขนส่งมวลชนทางแม่น้ำลำคลองได้ดีแล้ว อาจจะแก้ปัญหาการจราจรทางถนนได้ทางหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำก็คือ น่าจะทำให้มีจุดจอดเรือสาธารณะ หากมีจุดจอดเรือสาธารณะมาก ๆ คนจะนิยมใช้เรือส่วนตัว และเพื่อส่งเสริมการใช้เรือ ระบบการเดินเรือโดยสารสาธารณะควรมีทางเลือกมากกว่าที่เป็นอยู่ และทางเลือกนั้นควรต้องเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบกิจการเดินเรือหลาย ๆ แบบ ตอบสนองความต้องการหลากหลาย เรือรับจ้างแบบรถแท็กซี่ก็น่าจะมีแล้วเกี่ยวกับภาษีอย่างไร ?

สิ่งที่เกี่ยวข้อง คือโครงข่ายแม่น้ำลำคลองของไทย อย่างในกรุงเทพฯต้องมีการรื้อฟื้นคืนสภาพกันอีกพอสมควร จึงจะสามารถนำมาเป็นโครงข่ายการจราจรทางน้ำได้เหมือนในอดีต โดยย้อนไปดูยุคก่อน พ.ศ. 2500 นำมาเป็นต้นแบบ และพยายามแก้ไขการรุกล้ำลำน้ำ วิธีการคือ ต้องจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้หมดไป หรือให้เหลือน้อยที่สุด โดยการใช้ภาษี หรือค่าธรรมเนียมการล่วงล้ำลำน้ำ นั่นคือบุคคลที่ล่วงล้ำลำน้ำต้องถูกจัดเข้าสารบบ และต้องเสียภาษี หรือค่าธรรมเนียมล่วงล้ำลำน้ำ ซึ่งจะเรียกอย่างไรก็ตาม จะต้องเสียภาษีให้รัฐทุก ๆ ปี รัฐน่าจะเรียกให้สูงพอที่จะจูงใจคนให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำออกไป ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่นานลำน้ำที่สมบูรณ์จะกลับคืนมาอย่างนี้เรียกว่า ใช้ภาษีเป็นคำสั่งทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม การจะทำอะไรเกี่ยวกับภาษี ควรศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบเสียก่อน เพราะภาษีนั้นกระทบกระเทือนจิตใจคนจริง ๆ อีกอย่างคือการเสียภาษีจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ภาษีนั้นควรจะต้องทำให้ผู้เสียภาษียินยอมพร้อมใจ เต็มใจ และภาคภูมิใจในการเสียภาษี ว่าเป็นผู้มีส่วนช่วยให้รัฐนั้นดำเนินและดำรงอยู่ต่อไป