พลังของการยอมรับในความไม่รู้ (1)

ความเชื่อ
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : รณดล นุ่มนนท์

“ความเชื่อ” เป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่เกิดจากการเรียนรู้และการปลูกฝังอบรมมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก เป็นความเชื่อที่ยึดมั่นติดอยู่ในใจโดยไม่เคยต้องสนใจว่าเรื่องที่เราเคยเชื่อนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไปอาจจะไม่เป็นเหมือนเดิม

ทั้งนี้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมันสมองสุดขี้เกียจ พอใจชื่นชอบว่าสิ่งที่ตนเองเห็นและเชื่อถูกต้องแล้ว เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ในเวลาที่กระบวนการจักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ จู่ ๆ ก็มี
หญิงสาวคนหนึ่งโพสต์คลิปว่าเกิดมีรอยเท้าคนปรากฏบนเตียงนอนภายในโรงแรมที่พัก

โดยอธิบายว่า เมื่อตอนเข้าห้องพักได้ถ่ายรูปห้องไว้ทุกมุม ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่หลังจากไปเข้าห้องน้ำกลับออกมา สังเกตเห็นรอยเท้าคนขนาดใหญ่ 2 รอยอยู่บนกลางที่นอนบนเตียง ไม่มีรอยเท้าอยู่ตามหรือที่อื่น ๆ เลย เธอตกใจกลัวมาก ไม่รู้ว่าเป็นรอยเท้าใคร เพราะในห้องมีเพียงเธอคนเดียว ประตูห้องก็ล็อกทั้งหมด

หลังจากแชร์คลิปดังกล่าวออกไปเพียงไม่กี่นาที มีคนเข้ามาให้ความเห็นอย่างล้นหลามกว่า 2.3 ล้านครั้ง แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ มีไม่น้อยที่เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องอาถรรพ์ลี้ลับทางไสยศาสตร์ อาจจะเป็นภูตผีปีศาจ หรือของผีสางนางไม้ เจ้าที่เจ้าทาง

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมากพอ ๆ กันเห็นว่าเป็นเพียงรอยเปื้อนธรรมดา ๆ ที่ผู้หญิงคนนั้นหวาดระแวง หรือตื่นตระหนกไปเอง (1)

ทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งไปตาม “ความเชื่อ” ไม่มีใครยอมใคร และคงจะเปลี่ยนใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ เรื่องไม่เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมาเสียเวลาทำนองนี้มีอยู่มากในแต่ละวัน แม้กระทั่งเรื่องที่ควรจะยุติไปนานนับพันปีแล้วก็ยังเป็นปัญหาโต้แย้งไม่รู้จบ เช่น เรื่องโลกกลม โลกแบน ที่ผู้คนส่วนหนึ่งยังค้างคาใจ

ประชากรชาวบราซิลกว่า 11 ล้านคนยังคงเชื่อว่าโลกแบน แม้ว่าเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล “พีทาโกรัส” นักวิทยาศาสตร์คนแรกได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับโลกกลมหมุนรอบตัวเอง และต่อมานักดาราศาสตร์อย่าง “โคเปอร์นิคัส” และ “กาลิเลโอ” ต่างยืนยันว่าเป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง

โดยกล่าวถึงลูกเรือยานอวกาศอพอลโล 17 ที่ถ่ายภาพรูปโลกให้เห็นโลกกลมทั้งใบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1972 และยังไว้ใจไม่ได้ว่าหากมีการชุมนุมยืนยันว่าโลกกลม ในบางท้องที่อาจจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมคงออกมาต่อต้านจนต้องแตกกระเจิงไม่มีที่ยืนในสังคม

ซึ่งเหมือนกับในช่วงศตวรรษที่ 16 ที่นักบวชในศาสนาคริสต์ เมื่อไปพูดที่ไหนต้องยืนยันว่าโลกแบน คนไหนพูดว่าโลกกลมจะเป็นอันตราย (2)

ในปัจจุบันเครื่องมือการสื่อสารในโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “การพูดคุย” ดังนั้น อาวุธที่มีพลังที่สุดในการสร้างทักษะการโต้เถียงเพื่อตามล่าหาความจริง

และเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อ “อดัม แกรนต์” (Adam Grant) ศาสตราจารย์หนุ่มนักจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาองค์กร แห่ง Wharton School มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เจ้าของหนังสือที่โด่งดังเรื่อง “Originals” และ “Give and Take” ได้เขียนหนังสือออกมาใหม่เมื่อปีกลาย (ปี 2021) เรื่อง “Think Again : The Power of Knowing What You Don’t Know” เรียกร้องว่า…อย่าเชื่อมั่นในความรู้ที่เรามี แต่จงเชื่อมั่นในความรู้ที่เราได้มาใหม่

โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว มนุษย์ในปี 2021 ต้องรับข้อมูลและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มากกว่ามนุษย์ในเวลาก่อนหน้านี้เพียง 25 ปี ถึง 5 เท่า เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักเปลี่ยนความคิด (rethink) ทิ้งความรู้เดิม ๆ (unlearn) ซึ่งคนที่จะทำให้เราเปลี่ยนได้ก็มีแค่เราเท่านั้นแหละ

เริ่มต้นจากตนเอง เรียนรู้สิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น เปิดรับและตระหนักถึงอำนาจของความถ่อมตัว ความสงสัย และความยืดหยุ่น ยอมรับในสิ่งที่เราไม่รู้ เห็นจุดบอดที่อาจนำมาสู่สิ่งไม่พึงประสงค์ ที่สำคัญต้องทำอะไรก็ได้ให้คนรอบข้างเข้าใจกระบวนการ ให้เกิดความเชื่อและความศรัทธาในตัวเรา (3)

“ศาสตราจารย์แกรนต์” กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อในความรู้สึกว่า “ถูกต้อง” แทนที่จะเป็น “ถูกจริง ๆ” และไม่คิดจะเปลี่ยนความเชื่อที่เคยเชื่อตาม ๆ กันมา อ้างว่าไม่ได้มีการทักท้วง ทำไมจึงต้องมาเสียเวลาเปลี่ยนความเชื่อนั้น

ทั้งนี้ ความเชื่อของมนุษย์มีอยู่ 3 ประเภท คือ ความเชื่อแบบนักเทศน์, แบบทนายความ และแบบนักการเมือง

นักเทศน์จะเน้นความเชื่อของตัวเองว่าเป็นความจริงสูงสุด ส่วนทนายความจะเน้นการโจมตีความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างกับตัวเองเพื่อให้ชนะคดี ขณะที่นักการเมืองจะทำทุกวิถีทางให้ได้รับการเลือกตั้ง

ความเชื่อทั้ง 3 ลักษณะนี้ไม่ได้เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ “ศาสตราจารย์แกรนต์” จึงขอให้ทุกคนได้กลับมามองตนเอง ทบทวนว่าสิ่งที่เราเข้าใจ สิ่งที่เราเชื่อ หรือสิ่งที่เรารู้นั้นยังถูกต้องอยู่หรือไม่ และยังสามารถใช้ได้อยู่หรือเปล่า แล้วดึงสติให้หลุดออกจากกรอบความเชื่อผิด ๆ เข้าสู่การค้นหาความจริง

เริ่มด้วยตั้งคำถามในเรื่องที่รู้ สงสัยในเรื่องที่ยังไม่รู้ เติมความรู้ใหม่ ๆ เป็นการเข้าสู่โหมด “นักวิทยาศาสตร์” เน้นการตั้งสมมุติฐานและหาคำตอบ เพราะการทบทวนความคิดของตนเองอยู่เป็นระยะ ๆ นั้น คือหนทางสร้างชีวิตให้สมบูรณ์ (4)

อย่างไรก็ตาม เพียงความตั้งใจจะผันตัวเองให้เป็นนักคิดใหม่อาจไม่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อทั้งระบบยังต้องมีปัจจัยอื่น ๆ มาเสริม โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ “ศาสตราจารย์แกรนต์” เรียกว่า “confident humility” หรือการผสมผสานระหว่างการยอมรับในความไม่รู้กับความมุ่งมั่นในความสามารถที่จะเรียนรู้

ซึ่งผมจะขอขยายความในฉบับหน้านะครับ

แหล่งที่มา : (1) https://www.komchadluek.net/hotsocial/500951

(2) https://www.youtube.com/watch?v=K2rxEcZWNus

(3) Panasm.com. 2022. [สรุปหนังสือ] Think Again : The Power of Knowing What You Don’t Know

(4) https://thezepiaworld.com/2021/07/24/think-again