รับมือ Q1 เงินเฟ้อเร่งตัวสูงสุด 4% สารพัดปัจจัยซ้ำเติมค่าครองชีพ

คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : นริศ สถาผลเดชา
ttb analytics

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งตัวตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผ่านค่าครองชีพที่แพงขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐต้องเผชิญความยากลำบากในการดูแลเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยที่ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า แรงกดดันจาก “หมวดพลังงาน” โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง จากสภาพภูมิอากาศที่หนาวมากกว่าปกติ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ทั่วโลกมีความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อราคาน้ำมันโดยเฉพาะในช่วงต้นปีนี้

แม้ประเทศไทยรัฐบาลจะตรึงราคาเชื้อเพลิงบางประเภท แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเร็ว

แม้ว่าหลังเข้าสู่ไตรมาส 2 แรงกดดันด้านราคาพลังงานจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปจนกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3 นี้

สำหรับต้นทุน “หมวดอาหารสด” มีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่แพงขึ้น ประกอบกับปัจจุบันเกิดโรคระบาดของสุกรในไทย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงและราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นสูง มีผลกระทบทำให้ราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ เช่น เนื้อไก่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเคยเกิดปัญหาโรคระบาดเดียวกันในสุกร ประเมินว่าไทยอาจยังต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการฟื้นปริมาณการเลี้ยงสุกรเป็นสาเหตุทำให้แรงกดดันต่อราคาในหมวด อาหารสดจะคงยังลากยาวไปถึงสิ้นปี 2565

อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) จะแผ่วลงไปในช่วงต้นปีตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่กำลังเร่งตัวทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีประเมินว่าผลกระทบนี้จะอยู่เพียงในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่านั้น ก่อนที่เศรษฐกิจภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากปัญหาการตึงตัวในภาคการผลิต (supply bottleneck) ในบางหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตของประเทศที่กำลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ หรือปัญหาในการปรับเพิ่มอัตราการจ้างงาน อาทิ กลุ่มสินค้าที่ต้องพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเห็นผลกระทบได้สูงในปัจจุบัน

ประกอบกับ “ต้นทุนค่าขนส่ง” ที่แพงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างตามท่าเรือ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนของผู้ผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย กรณีของไทยความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้านำเข้าและราคาผู้ผลิตมีระดับสูงมาก

เบื้องต้นประเมินว่าปัญหาตึงตัวด้านกระบวนการผลิตในหลายสินค้าจะยังมีผลกระทบชัดเจนถึงช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ปัญหาค่าขนส่งทางเรือแพง ซึ่งได้ทยอยปรับลงมาแล้ว แต่คาดว่ากว่าจะกลับสู่ระดับราคาปกติราวปลายปี 2567

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าระดับการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตที่แพงขึ้นไปยังผู้บริโภคในประเทศจะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และเป็นลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องด้วยกำลังซื้อและการจ้างงานในไทยโดยรวมยังคงเปราะบาง

ปัจจัยกดดันด้านสูงจากฝั่งอุปทาน (cost-push) ทั้งหมด ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปี 2564 ทำให้ ttb analytics ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยเร่งตัวสูงสุด 4% ในไตรมาสแรกปีนี้ 
ก่อนจะทยอยลดลงหลังปัจจัยกดดันราคาด้านต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศทยอยคลี่คลายลง โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อ “เงินเฟ้อ” ด้านสูงยังมีอยู่จากสาเหตุ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่อาจทำให้ราคาพลังงานเร่งขึ้นกว่าปัจจุบัน 2) ปัจจัยด้านภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตการเกษตร 3) ความยืดเยื้อของปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงจนทำให้กิจกรรมการผลิตต้องสะดุดลงและกระทบการจ้างงาน

ท่ามกลางภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องปรับวิธีการใช้จ่ายให้เหมาะสม ในส่วนภาครัฐที่กำกับดูแลเศรษฐกิจ นอกจากการเร่งออกนโยบายลดต้นทุนค่าครองชีพทั้งการตรึงราคาเชื้อเพลิง และการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ประชาชนแล้ว อาจเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในส่วนที่สามารถทำได้ภายในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง