ตรึงราคา-ตรึงไม่อยู่

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เริ่มต้นเดือนพฤษภาคม สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนนอกจากการเปิดประเทศ คือ สินค้าชนิดต่าง ๆ พาเหรดขึ้นราคา และจากนี้ไปคงเป็นเรื่องยากมากแล้วที่จะลดราคาลงได้ ปัจจัยภายนอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่อเค้าลากยาวไปอีกนาน เมื่อฝ่ายรัสเซียแจ้งว่าไม่คิดจะจบศึกภายในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ที่เป็นวันฉลองชัยชนะของประเทศอย่างที่มีคนคาดการณ์ไว้

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือเฟด มีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่เพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ผลกระทบจากภายนอกครั้งใหญ่นี้ บีบให้รัฐบาลลดการอุดหนุนเชื้อเพลิง ทั้งดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า

แม้จะมีมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยหลงเหลืออยู่บ้างด้วยส่วนลดต่าง ๆ แต่เมื่อสินค้าปรับขึ้นราคาเป็นทิวแถว ก็เป็นคำถามว่าจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะราคาอาหารที่ปรับขึ้นถ้วนหน้า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกให้ประชาชนเลือกใช้-เลือกกิน

ราคาสินค้าควบคุมที่กระทรวงพาณิชย์ขึ้นบัญชีไว้ 18 รายการ มีหลายรายการที่รัฐเองระบุว่า ตรึงไว้ไม่อยู่ เช่น ราคาปุ๋ย เพราะต้องนำวัตถุดิบปีละ 5 ล้านตัน ซึ่งมีต้นทุนนำเข้าสูง แม้รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนนำเข้าข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวบาร์เลย์ ปริมาณรวมไม่เกิน 1.2 ล้านตัน โดยลดภาษีนำเข้า 0% เป็นเวลา 3 เดือน ถึงวันที่ 31 ก.ค. ด้วยเชื่อว่าจะช่วยเรื่องต้นทุนได้

ด้านหมูปรับราคาทั่วประเทศไปแล้วสูงสุด คือ 7 บาทต่อกิโลกรัม ดันราคาขายปลีกให้ทะยาน 200 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาข้าวทั้งข้าวสารและข้าวเหนียวปรับเพิ่มกิโลละ 2 บาท, ราคาน้ำมันพืชทุกชนิดเพิ่มโดยเฉลี่ย 1-3 บาทต่อขวด ทั้งน้ำมันปาล์มขายอยู่ขวดละ 64-68 บาท น้ำมันรำข้าวราคาทะลุ 75 บาทต่อขวด

ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรัฐบาลขอให้ผู้ผลิตทุกรายให้ความร่วมมือช่วยตรึงราคาออกไปก่อน เช่นเดียวกับชุดนักเรียนที่ขอให้จัดโปรโมชั่นลดราคาด้วย

มาถึงราคารถยนต์ รถจักรยานยนต์ เผชิญปัญหาขาดแคลนชิป แร่ธาตุผลิตแบตเตอรี่ และปัญหาเงินเฟ้อ ค่ายรถต่างเผยว่า พยายามตรึงราคามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ตอนนี้ไปต่อไม่ได้เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น วงการอสังหาริมทรัพย์กระทบหนักไม่แพ้กัน

ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานไตรมาส 1 ปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.3% ราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะราคาเหล็กเพิ่มมากถึง 35% เพราะทั้งรัสเซีย-ยูเครนเป็นแหล่งวัตถุดิบเหล็กใหญ่ที่สุดของโลก

มาตรการที่รัฐบาลประกาศ คือ จะบริหารให้เกิดความสมดุลทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค อยู่ได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องคำนึงด้วยว่าวิกฤตจะจบไม่เร็ว