สินค้าสุดอั้นเข้าคิวขึ้นราคา สหพัฒน์ผวา “วัตถุดิบขาด”

ของแพง

วิกฤตต้นทุนกดดันผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอั้นไม่อยู่ แห่ยื่นกรมการค้าภายในขอขึ้นราคา แจ้งต้นทุนเพิ่มทุกมิติ ทั้งวัตถุดิบ-แพ็กเกจจิ้ง-ค่าขนส่ง มาม่าขอปรับเป็น 7 บาท ปลากระป๋องเข้าคิว ซัพพลายเออร์ดิ้นหั่นงบการตลาด-ลดต้นทุน ส.อ.ท.ชี้ครึ่งปีหลังสต๊อกวัตถุดิบหมด ต้องแบกต้นทุนใหม่ คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อดันน้ำมันแพงข้ามปี ยักษ์สหพัฒน์กังวลวัตถุดิบขาดแคลนกระทบกำลังการผลิต โชห่วยสะเทือนยี่ปั๊วปรับราคาขาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผ่านราคาน้ำมันดิบโลกและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น กดดันให้สถานการณ์ปรับขึ้นราคาสินค้ารุนแรงมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลพยายามขอความร่วมมือให้พยุงราคา นอกจากนี้ ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2565 ที่รัฐบาลลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้ขยับราคาจากที่ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็น 35 บาทต่อลิตร

รวมทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 เพิ่มอีก 23.38 สตางค์/หน่วย เป็น 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย เพิ่มความกดดันต่อราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น

หวั่นสต๊อก “วัตถุดิบ” หมด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือสมาชิกในการตรึงราคาสินค้าตามที่ภาครัฐประสาน ซึ่งสมาชิกทุกคนให้การตอบรับตรึงราคา แต่สิ่งที่เรากังวลคือ เมื่อวัตถุดิบที่สต๊อกไว้หมด ซึ่งวัตถุดิบลอตใหม่ที่เข้ามาจะมีราคาปรับขึ้นไปมาก ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมวัตถุดิบที่ปรับราคาขึ้นไม่เท่ากัน หากต้นทุนการผลิตสูงแล้วไม่ปรับราคา อาจผลิตสินค้าไม่ได้ หรือขาดทุน ฉะนั้นหลายสินค้าเมื่อสต๊อกหมด หรือสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาในราคาที่เพิ่มขึ้นก็จำเป็นต้องปรับราคา

ต่อคำถามว่ากัดฟันตรึงราคาได้นานกี่เดือน นายเกรียงไกรกล่าวว่า โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมจะมีสต๊อกวัตถุดิบประมาณ 3-6 เดือน แต่ปีนี้เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ พอเริ่มเห็นสัญญาณราคาเริ่มแพง ถ้ารายไหนสั่งเพิ่มไปทันทีก็จะได้รับวัตถุดิบลอตใหม่เข้ามาจากนั้นหนึ่งเดือน ก็ทำให้มี “สต๊อกยืดออกไปอีกนิดหน่อย” แต่ต้นทุนของสินค้าก็จะปรับขึ้นแล้ว เรียกว่าตอนนี้ใช้ต้นทุนสต๊อกเดิมมาถัวเฉลี่ยก็จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยขยับสูงขึ้น ผู้ผลิตก็จะเริ่มต้องขยับราคาแล้ว

“ถ้าผู้ผลิตที่มีสต๊อกสั้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งกระทบ เมื่อต้นทุนใหม่มาก็ต้องรับไปเต็ม ๆ ฉะนั้นถ้าถามว่าราคาสินค้าต้นทุนและสต๊อกที่มีจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ตอบได้ว่าประมาณ 3-6 เดือน หรือประมาณกลางปี จากนั้นต้องเป็นไปตามต้นทุนใหม่ทั้งหมด”

ขึ้นราคาบางส่วน-ตรึงบางส่วน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สูตรการปรับราคาสินค้าจะมีทั้งแบบปรับราคาบางส่วนไม่ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมด หรืออาจจะปรับขึ้นให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดในทันที

“ถ้าสินค้าที่มีความอ่อนไหวอาจปรับขึ้นราคาได้ไม่มาก โดยผู้ประกอบการอาจต้องช่วยแบกรับบางส่วนไว้ด้วย แต่บางอุตสาหกรรมก็ต้องยอมรับว่าอาจจะผลักไปสู่ผู้บริโภคทั้งหมดก็มี หรือบางส่วนก็เป็นสินค้าที่อยู่ในหมวดของสินค้าควบคุมไม่สามารถขึ้นได้ตามอำเภอใจ เช่น กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้นทุนข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ต้องตรึงราคาไม่สามารถปรับขึ้นไปทั้งหมดได้ จะถูกควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายในก็ต้องขออนุญาตก็จะปรับราคาขึ้นตามความเหมาะสมที่ทางการเห็นชอบ แต่หากทางการไม่ยอมให้ปรับ ผู้ประกอบการก็ต้องรับภาระราคาไปก่อน ซึ่งแต่ละรายจะมีความสามารถและกระแสเงินสดในการแบกรับต้นทุนได้ไม่เท่ากัน”

กำลังซื้อทรุดชะลอการผลิต

นายเกรียงไกรกล่าวว่า แน่นอนการขึ้นราคาสินค้าส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะข้าวสาลีพุ่งขึ้นเยอะมาก ทำให้ผู้ผลิตเริ่มลดกำลังการผลิต ประกอบกับที่ขาดแคลนซัพพลาจากรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถส่งได้ เพราะต้องเก็บไว้บริโภคภายในแทบจะไม่พอ จึงทำให้ราคาทั่วโลกพุ่งขึ้นไป ส่งผลกระทบมากโดยเฉพาะผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปของไทยจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา แต่ก็ไม่สามารถปรับขึ้นโดยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมดได้ ปรับขึ้นได้แค่บางส่วนและผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระไว้บางส่วน เพราะเป็นสินค้าควบคุม

“เบื้องต้นยังไม่ได้ลดกำลังการผลิต แต่อาจจะค่อย ๆ ลดลง เพราะกำลังซื้อมันลดลง เนื่องจากตอนนี้ภาคการส่งออกยังดี ซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 ตลาด คือผู้ผลิตสำหรับตลาดภายในประเทศ ถ้าของแพง ประชาชนรายได้น้อยก็จะซื้อต่อครั้งจำนวนลดลง ส่วนนี้ก็จะมีการบริโภคชะลอตัวลง แต่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกดีขึ้น เพราะทั่วโลกเริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะยุโรปเริ่มมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของอาหาร เพราะยูเครนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป ทำให้ยุโรปหันมาซื้ออาหารจากผู้ผลิตเอเชีย รวมถึงไทยก็ได้อานิสงส์นี้ไปด้วย โดยเฉพาะผู้ส่งออกไก่ ซึ่งแม้ว่าต้นทุนอาหารสัตว์จะแพง ต้องปรับขึ้นราคา แต่ตลาดส่งออกยังมีความต้องการสูง”

ครึ่งปีหลังห่วงเงินเฟ้อ

นายเกรียงไกรย้ำว่า ประเด็นราคาสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังน่าห่วงเรื่องเงินเฟ้อ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี หรือถึงปีหน้า และขยายวงไปประชิดชายแดนโรมาเนีย เพื่อปิดล้อมไม่ให้ยูเครนมีทางออกทางทะเลดำ นั่นจะส่งผลต่อ “ต้นทุนราคาพลังงาน และราคาอาหารโลก”

“สภาอุตสาหกรรมฯกังวลว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะบานปลาย และขยายขอบเขตและยืดเยื้อ จะกระทบกับราคาพลังงานสูงอยู่ตลอดทั้งปี 2565 โดยเฉพาะราคาน้ำมันคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตลอดทั้งปีหรือไปถึงปีหน้า กรณีที่รัสเซียปิดท่อไม่ส่งก๊าซให้กับโปแลนด์ ก็มีโอกาสจะทำให้ราคาพลังงานปรับขึ้นไปอีก นี่เป็นความกังวลประเด็นแรก และประเด็นที่สอง สงครามยืดเยื้อจะทำให้ราคาอาหารการกิน และสินค้าโภคภัณฑ์ ปุ๋ย เหล็ก แร่ธาตุมีราคาแพง และขาดแคลน”

11 พ.ค.เตรียมถก กกร.

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปัญหาของแพงก็สร้างภาระ แต่ถ้าของขาดจะยิ่งแย่ เหมือนกรณีที่ตอนนี้ผู้ผลิตอาหารและผู้เลี้ยงสัตว์จะประสบปัญหาต้นทุนราคาอาหารสัตว์แพงขึ้น และเกษตรกรเจอปัญหาราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น แต่ก็ยังสามารถหาซื้อได้แม้ว่าจะแพงขึ้น เพราะยังมีดีมานด์ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรีบแก้ปัญหาตอนนี้คือต้องไปหาแหล่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติม และไปล็อกราคาซื้อในระยะยาวไว้จนถึงปลายปี เพื่อทำให้ไม่ขาดแคลน สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

โดยในการประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 จะติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ

อาหารสำเร็จรูปอั้นได้อีก 1 เดือน

ด้านนายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ขายภายในประเทศยังให้ความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าทั้งอาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรส แต่เชื่อว่าจะตรึงได้ระยะหนึ่งเท่านั้น โดยผู้ผลิตยังคงมีวัตถุดิบเหลือประเมิน 1 เดือนที่สามารถตรึงราคาได้ แต่จากนั้นจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

มาม่าขอปรับขึ้นราคาเป็น 7 บาท

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการกังวลเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งแป้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง ขนส่ง ขณะนี้สหพัฒน์ได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาเป็น 7 บาท หรือราว ๆ 17% ยื่นไปที่กรมการค้าภายใน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ หวังว่าเร็ว ๆ นี้เพราะหากยังขึ้นราคาไม่ได้ ต้องขาดทุนแน่นอน อีกทั้งปัญหาตอนนี้ไม่ใช่แค่วัตถุดิบแพงอย่างเดียว แต่ยังเจอวัตถุดิบขาดแคลน ประกอบกับพนักงานในโรงงานติดโควิดทำให้กำลังการผลิตติดขัดไปด้วย

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้อีกไม่นานอาจได้เห็นกลุ่มบะมี่กึ่งสำเร็จรูป ขยับราคา 7-8 บาทต่อซอง ส่วนตัวมองว่าผู้บริโภคยังรับได้ หากเทียบกับกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ขยับขึ้นราคา เพราะมาม่าปรับจากราคา 6 บาท ตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว

นายเวทิตกล่าวว่า ที่ผ่านมาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการปรับราคาเฉพาะ “มาม่า บิ๊กแพ็ค” ทั้งรสหมูสับ ต้มยำกุ้ง ปรับราคาขายปลีก จาก 8 บาทต่อซอง เป็น 10 บาทต่อซอง เนื่องจากเป็นสูตรใหม่ที่มีการปรับปรุงรสชาติ เพิ่มเครื่องปรุง ทำให้ปริมาณสินค้าบิ๊กแพ็คเพิ่มขึ้น 5 กรัม จาก 90 กรัม เป็น 95 กรัม ส่วนมาม่ารสหมูสับและต้มยำกุ้งขนาด 60 กรัม ราคา 6 บาท ซึ่งเป็นรสชาติขายดี และกลุ่มที่ทำยอดขายหลักให้กับมาม่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคา

ผงซักฟอกปรับขึ้นแล้ว

นายเวทิตกล่าวว่า ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ของสหพัฒน์ อาทิ ผงซักผอก น้ำยาปรับผ้านุ่มที่เริ่มขยับขึ้นราคา ควบคู่กับลดงบฯการทำตลาด ทั้งแคมเปญใหม่ ๆ โปรโมชั่น 1 แถม 1 คือสินค้าบางรายการ ถ้าขายตามราคาที่ตั้งไว้ยังพออยู่ได้ แต่ที่ผ่านมาตลาดแข่งขันสูง ทำให้ต้องจัดโปรโมชั่นแรง แต่เมื่อต้นทุนขึ้นสูงมากก็ต้องปรับตัวตามสภาพตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า ได้แจ้งการปรับขึ้นราคาสินค้าไปยัง “ผู้ค้าส่ง” หลังจากที่พยายามตรึงราคามาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มาม่าแจ้งปรับราคาหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มเส้นสีเหลือง อาทิ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ เป็นต้น โดยมีการปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือ 10-14 บาท/ลัง (6 กล่อง หรือ 180 ซอง)

ส่วนเส้นขาว เช่น เส้นหมี่น้ำใส และมาม่า คัพ ยังไม่มีการปรับราคา โดยการปรับขึ้นราคาขายส่งดังกล่าวจะทำให้ราคาขายมาม่าปรับเป็นกล่องละ 145 บาท จากเดิม 143 บาท และลังละ 870 บาท จากเดิม 858 บาท โดยมีผลตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เป็นการปรับราคาขายส่ง ยังไม่ได้มีผลต่อราคาขายปลีก

เช่นเดียวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ไวไว” ที่ปรับขึ้นราคาขายส่งตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ปรับปริมาณสินค้าจาก 55 กรัม เป็น 57 กรัม ส่วนราคาขายเพิ่ม 50 สตางค์ต่อซอง เป็น 6 บาท จากเดิม 5.50 บาท

ปลากระป๋องรอขึ้นราคา

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปลากระป๋องเปิดเผยว่า ธุรกิจปลากระป๋องเจอปัญหาต้นทุนหลายด้าน เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบปลาที่มีราคาสูงขึ้น ปัญหาระบบโลจิสติกส์ กระป๋อง รวมถึงค่าขนส่งในประเทศที่ปรับขึ้นจากราคาน้ำมัน โดยรวมแล้วต้นทุนขึ้นราว ๆ 7% ส่งผลกระทบในแง่ของรายได้และกำไร ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการต้องการปรับขึ้นราคา จึงได้ยื่นขอกับกรมการค้าภายใน เพราะเป็นสินค้าควบคุม แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต ประเมินว่าไม่น่าเกินครึ่งปีหลังจะต้องปรับขึ้นแน่นอน เพราะตรึงไม่ไหวกันแล้ว จึงต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายภายใน ควบคู่กับการลดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อประคองตัวไปก่อน

สบู่-ซีอิ๊ว-น้ำปลาขึ้นราคา

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า กลุ่มสินค้าที่ปรับขึ้นแล้ว ประกอบด้วย 1.กลุ่มซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำปลา ขยับขึ้น 2-3 บาทต่อขวด 2.สบู่ก้อนขยับขึ้น 1 บาท 3.น้ำมันพืช ขวด 1 ลิตร จาก 65 บาท ขยับขึ้น 68 บาท 4.แป้งทำอาหาร และเส้นบะหมี่ 500 กรัม ขยับขึ้น 3 บาท

ส่วนสินค้าที่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา แต่เตรียมปรับขึ้น ยังประเมินไม่ได้ เพราะกลุ่มสินค้าหมวดเดียวกันมีทั้งรายการที่ขึ้นและไม่ขึ้น เช่น กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ขึ้นแค่ M-150 ส่วนกระทิงแดง และคาราบาวแดงยังไม่ขึ้น และกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ มีแค่สปอนเซอร์ที่ปรับขึ้น นอกนั้นยังไม่ขึ้น ส่วนกลุ่มนมกล่องยูเอชที มีแลคตาซอยที่ปรับขึ้นบางขนาด

นายสมชายกล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ค้าส่งเจออยู่ตอนนี้คือ ผู้ผลิตมีสินค้าให้ไม่พอ แต่ยังไม่เชิงว่าสินค้าขาด ยกตัวอย่าง ออร์เดอร์สินค้าบางรายการเซ็นสัญญาให้ผู้ผลิตส่งให้ 1,000 ลัง แต่อาจได้รับแค่ 10% โดยผู้ผลิตให้เหตุผลว่า กระบวนการผลิตติดปัญหาเพราะพนักงานติดโควิด

ยี่ปั๊วปรับราคาแล้ว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านโชห่วยพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลพบว่า ผู้ประกอบการยี่ปั๊วแจ้งปรับราคาขายส่งให้กับร้านโชห่วยหลายรายการ อาทิ ปลากระป๋องสามแม่ครัวแพ็ก 10 กระป๋อง จาก 170 บาท ขึ้นมาเป็น 250 บาท และตอนนี้สินค้าขาดตลาด เกี่ยมฉ่ายกระป๋อง แพ็ก 6 กระป๋อง ปรับจาก 75 เป็น 100 กว่าบาท ราคาผงซักฟอกถุงเล็ก ขายส่ง 10 ถุง ราคาแพ็กละ 100 ปรับ 110 บาท ยากันยุง (คายาริ) แพ็ก 6 กล่อง ขยับราคา 75 เป็น 95 บาท ส่วนน้ำมันพืชที่จำหน่ายในร้านโชห่วย โดยเฉพาะราคาน้ำมันปาล์มขึ้นไป 70 กว่าบาท

54 โรงงานน้ำตาลจ่อถกพาณิชย์

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งน้ำมัน ปุ๋ย โรงงานน้ำตาลก็ต้องแบกรับภาระไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น และแน่นอนว่าต้องการขึ้นราคาน้ำตาลเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ที่ภาครัฐกำหนดราคาจำหน่ายไว้ที่ 23.50 บาทต่อ กก. หากสถานการณ์ยังวิกฤตอยู่ คาดว่าในไม่ช้าทั้งโรงงานและชาวไร่ต้องหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร จะปรับราคาน้ำตาลขึ้นหรือไม่ หรือจะมีมาตรการใดเข้ามาช่วยเหลือ เพราะขณะที่ผลกระทบลากยาวไปถึงชาวไร่อ้อย

พาณิชย์ถกเครียดรายสินค้า

ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า 18 กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง “ให้มากและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้” ขณะเดียวกันต้องการให้รักษาสมดุลให้ผู้ประกอบการ “อยู่ได้” ไม่เช่นนั้นจะหยุดผลิต จะกลายเป็นปัญหาของขาดตลาด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้ทยอยเชิญผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้ามาหารือถึงสถานการณ์ราคาทุกวัน เป็นรายสินค้า โดยแต่ละวันประชุม 8-10 กลุ่ม พิจารณาตามนโยบายของกระทรวงที่ต้องการให้เกิดการดูแลที่สร้างความสมดุลทั้งผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภค ซึ่งหลักการพิจารณาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะดูว่ากำไรยังครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ายังมีกำไรก็อาจจะขอให้ช่วยประคองไปก่อน

ช่วยหาวัตถุดิบอุ้มบะหมี่

สำหรับผลสรุปจากการหารือกับผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ล่าสุดได้ขอความร่วมมือตรึงราคาชนิดซองในรสชาติที่มีการบริโภคมาก โดยกรมจะช่วยประสานกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ให้ช่วยหาวัตถุดิบราคาถูก ส่วนน้ำมันปาล์มได้หารือกับเกษตรกร โรงสกัดและโรงกลั่น เพื่อขอความร่วมมือตรึงราคาน้ำมันปาล์มขวดที่ 64-66 บาท เพราะขณะนี้ต้นทุนผลปาล์มขยับไปถึง 10-11 บาทต่อ กก.แล้ว โดยตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์สต๊อกให้อยู่ในระดับ 3 แสนตัน ป้องกันการขาดแคลนในช่วงปลายปี