ของแพง-ค่าแรงถูก

Photo by pixabay
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เป็นประจำทุกปีในช่วงวันแรงงาน 1 พ.ค. หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นไม่พ้นการเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเข้ากับค่าครองชีพที่เหมาะสม ให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ ซึ่งทุกครั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะเรียกร้องค่าแรงมากที่สุด ขณะที่กลุ่มนายจ้างอยากขึ้นน้อยที่สุด ก่อนที่จะหาจุดลงตัวที่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะได้เพิ่มแค่ไม่กี่บาทเท่านั้น

ที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์โควิด ประเทศไทยไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำมา 2 ปีเศษ ครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2563 เฉลี่ยปรับขึ้นจังหวัดละ 5-6 บาท ทำให้ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำแบ่งเป็น 10 พื้นที่ อยู่ระหว่าง 313-336 บาท/วัน

หากเทียบระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานไทยมีรายได้เพิ่ม 13-36 บาท/วันเท่านั้น เพราะในปี 2555 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเทศไทยปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศตามนโยบายที่หาเสียงไว้

แต่เดิมแผนปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปลายปี 2554 แต่เพราะมีเสียงต่อต้านบวกกับเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงใช้วิธีปรับค่าแรงชุดแรก 300 บาท/วันเพียงจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ส่วนที่เหลือปรับเพิ่มขึ้น 40% ก่อนที่ในปีต่อมาจะปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศได้สำเร็จ พร้อมลดแรงเสียดทานด้วยการใช้มาตรการด้านภาษีมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 10 ปี ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเพียง 13-36 บาท/วัน ทำให้ปีนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ขอปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 492 บาท/วัน ตามค่าครองชีพและราคาสินค้า-บริการต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อเนื่องทุกปี

โดยเฉพาะปีนี้ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง และรัฐบาลกำลังจะหยุดอุดหนุนดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ปล่อยราคากึ่งลอยตัวช่วยอุ้มแค่ครึ่งเดียวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ทำให้ราคาดีเซลขึ้นไปเบื้องต้น 32 บาท/ลิตร และค่อย ๆ ปรับขึ้นครั้งละ 1 บาท จนสุดที่ 35 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นเพดานราคาใหม่และรัฐจะยืนราคานี้ไว้แต่ไม่แน่ชัดว่าจะนานขนาดไหนหากราคาน้ำมันโลกยังสูงต่อเนื่อง

ทำให้หลังวันที่ 1 พ.ค. สินค้าต่าง ๆ จ่อปรับราคาตามทันที แม้กระทรวงพาณิชย์พยายามตรึงราคาสินค้า 18 รายการสำคัญ อาทิ ปุ๋ยเคมี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และกลุ่มอาหารกระป๋อง ฯลฯ แต่ราคาขายส่งเริ่มปรับขึ้นแล้ว กลุ่มเรือโดยสาร-เรือข้ามฟากจ่อปรับ 1 บาท/คน/เที่ยว เช่นเดียวกับสองแถวรับจ้างเล็งขอขึ้นอีก 2 บาท/คน/เที่ยว

ด้วยราคาสินค้า-บริการ บวกกับเงินเฟ้อที่ปีนี้คาดว่าตัวเลขค่อนข้างสูง ยิ่งทำให้กลุ่มแรงงานใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น แม้ตัวเลข 492 บาท/วันแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องสมควรพิจารณาตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา