เขย่ายุทธศาสตร์ BOI ปั๊มลงทุนพุ่ง 6 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจ

Photo by STR / AFP) / China OUT

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนระยะ 7 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เริ่มใช้เมื่อปี 2558 ได้สิ้นสุดลงในปี 2564 ปรากฏภาพความสำเร็จที่สามารถช่วยขับเคลื่อนยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 2.18 แสนล้านบาท เป็น 6.42 แสนล้านบาท ในปี 2564

ล่าสุดไทยต้องยกร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ สำหรับปี 2566-2572 ให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อปั๊มรายได้จากภาคการลงทุนให้เติบโตสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ที่ต้องการปลุกปั้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) คู่ขนานกับการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ย้ำเสมอว่า ประเทศไทยจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้นั้น จะต้องดึงการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาให้ได้ บริษัทที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง บริษัทที่มีนวัตกรรม เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้ เรื่องของผู้เชี่ยวชาญ บุคลากร และนวัตกรรม ภายใต้เงื่อนไขการลงทุนที่ต้องแลกกับสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้ โดยทั้งหมดทั้งมวลเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุน เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก

ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกขับเคลื่อนมาแล้วถึง 5 ปี ขณะที่ S-curve ได้เพิ่มอีก 3 มาเป็น 13 อุตสาหกรรม โดยเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอุตสาหกรรม

ดวงใจ เลขาฯ BOI

ล่าสุด จึงเห็นได้ว่าระยะหลังบีโอไอจะให้การส่งเสริมกิจการที่เป็นกลุ่มพลังงานทดแทน กิจการที่เป็นกรีน กิจการที่ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นี่คือหนึ่งโจทย์ที่ยุทธศาสตร์บีโอไอได้เริ่มปรับ ต่อมาจากที่ให้ความสำคัญอยู่ก่อนแล้วก็หันกลับมาคลายล็อกข้อจำกัดบางเรื่องกับกิจการขนาดเล็ก หรือ SMEs ทั้งการลดวงเงินลงทุนลงเหลือ 500,000 บาท หรือแม้แต่อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้ ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 เท่า

การส่งเสริมกิจกรรมภายในประเทศ ผลักดันให้เปิดตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น รวมทั้งการให้ทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs รายที่ทำเรื่องของนวัตกรรม โดยดึงเอา พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (กองทุน 10,000 ล้านบาท) จากเดิมที่กองทุนนี้จะมุ่งพิจารณาให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีอิมแพ็กต์ต่อประเทศมาก ๆ ด้วย เพราะข้อแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างซับซ้อน การเจรจาที่ไม่ตกผลึก ทำให้การดึงเงินกองทุนนี้ออกมาจึงทำได้ยาก แต่เมื่อยืดหยุ่นให้ SMEs แล้ว จึงทำให้ประสิทธิภาพของกองทุนนี้ถูกดึงออกมาใช้อย่างสมเหตุสมผล

กระจายการเติบโตสู่ SMEs

สอดคล้องกับภาคเอกชน “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มุ่งเสนอให้บีโอไอปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยหันมามองที่ผู้ประกอบการรายเล็ก และนักลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะแม้ว่ารายใหญ่จะมีเม็ดเงินลงทุนสูง ซึ่งไตรมาส 1 ปี’65 จะเห็นได้ว่ามีโครงการขอลงทุน 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% มีมูลค่า 110,733 ล้านบาท ลดลง 6% แต่จำนวนทั้งหมดมันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้ส่งเสริมอุตสาหกรรม กิจการรายเล็กในประเทศได้มากน้อยขนาดไหน

ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจ เพราะในที่สุดการปลดล็อกหลายเรื่องก็ทยอยตามมา แม้บีโอไอจะยังคงยึดเป้าหมายเรื่องการชักจูงนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นบริษัทมีนวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง บริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมแทรนด์โลกอย่างรถไฟฟ้า EV โซลาร์เซลล์ ยา อุตสาหกรรมทางการแพทย์

แต่จากนี้บีโอไอจะเบนเข็มมามองนักลงทุนในประเทศ สร้างกิจกรรมแมตชิ่งรายเล็กกับรายใหญ่ให้เกิดเป็นห่วงโซ่ของซัพพลายเชนกันและกัน ปรับสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม ซึ่งจะมีการเพิ่มประเภทกิจการใหม่ ๆ แต่ก็ไม่ทิ้งนักลงทุนต่างชาติ

ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ใหม่ จะต้องล้อไปกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น กิจการที่จะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ จะผลักดันการเกิดอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ ยา สถานพยาบาลผู้สูงวัย ตอบสนองการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และด้านการรักษาอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเพิ่มกิจการภาคการเกษตรที่มีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก กิจการด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน

กางแผน “โรดโชว์”

พร้อมกันนี้ บีโอไอยังเตรียมแผนการโรดโชว์ในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศ “ญี่ปุ่น” ยังเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ ด้วยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ที่เข้ามาลงทุนสูงสุดในปี 2564 ถึง 178 โครงการ เงินลงทุน 80,733 ล้านบาท ทั้งยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตรงกับความต้องการอยู่แล้ว มีฐานการผลิตอยู่ที่ไทย การจะต่อยอดหรือขยายจึงไม่ใช่เรื่องยาก ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นำคณะเดินทางไปโรดโชว์ 19-23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19


ไม่เพียงเท่านั้น บีโอไอยังเตรียมแผนโรดโชว์ไปยังประเทศหลักที่เข้ามาลงทุน ซึ่งได้เริ่มเปิดประเทศแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และไทยน่าจะใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (MRT) ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. 2565 นี้ เสริมสร้างบรรยากาศเพื่อดึงดูดการลงทุนด้วย