ว่าด้วย “เงินเฟ้อโลก” เร่งตัว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

จับจ่ายใช้สอย
คอลัมน์ : ระดมสมอง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดทำบทวิจัยเรื่อง “เงินเฟ้อโลกเร่งตัวต่อเนื่อง สาเหตุและนัยต่อเศรษฐกิจ” ประชาชาติธุรกิจได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจบางส่วนมานำเสนอดังนี้

จากที่เงินเฟ้อโลกเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ นำโดยสหรัฐที่อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 8.2% ในเดือน เม.ย. 2022 สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรที่เงินเฟ้อขึ้นมาอยู่ที่ 9% สูงสุดในรอบ 30 ปี และสหภาพยุโรป ที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอยู่ที่ 8.1% สูงสุดในรอบ 30 ปี

รวมทั้งกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เริ่มเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะละตินอเมริกาที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 15 ปี อย่างไรก็ดีในหลายประเทศเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เช่น เงินเฟ้อในจีนที่ปรับขึ้นไม่สูงมากนัก เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวชะลอ อีกทั้งราคาอาหารบางกลุ่มปรับลดลง รวมถึงภาคการผลิตฟื้นตัวเร็วกว่าการบริโภค ทำให้ปัญหาการขาดแคลนอุปทานในประเทศน้อยกว่า ส่วนภูมิภาคอาเซียนในปีที่ผ่านมายังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อไม่รุนแรงนัก

3 ปัจจัยดันเงินเฟ้อโลก

รายงานวิจัยของ EIC ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกที่ร้อนแรงเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและพลังงานเพิ่มขึ้น 2) ปัญหาอุปทานคอขวด (supply-chain disruption) รวมถึงนโยบายควบคุมโควิดของจีน ส่งผลให้อุปทานขาดแคลนและขยายตัวได้ไม่ทันต่ออุปสงค์ และ 3) สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอกย้ำให้สถานการณ์ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทานรุนแรงขึ้น กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มเติม

สำหรับเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ปรับสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยอุปสงค์และอุปทานที่เผชิญปัญหาคอขวด รวมถึงอุปสงค์ที่ฟื้นตัวเร็วจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่รุดหน้ามากกว่า ขณะที่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เป็นผลจาก
อุปทานหรือต้นทุนเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดี

เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องข้ามปี

EIC มองว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องในปีนี้ แต่อาจชะลอลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี และปรับลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้ในปี 2023 จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดที่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายลง

และผลการดำเนินนโยบายของภาครัฐและธนาคารกลางที่จะตึงตัวขึ้นทำให้อุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจชะลอลง

กระทบฟื้นตัว ศก. 5 ช่องทาง

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกผ่าน 5 ช่องทางดังนี้

1) กดดันการฟื้นตัวของการบริโภค จากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นที่ส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคปรับลดลง โดยประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อยกว่า จะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเงินออมภาคครัวเรือนสูง ทำให้ยังสามารถนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อบริโภคได้ หรือมีสัดส่วนมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐที่สูงเช่น สหรัฐ ทำให้อุปสงค์ไม่ลดลงมากแม้ราคาปรับสูงขึ้น

2) การลงทุนชะลอลง จากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นและความสามารถในการทำกำไรที่ปรับลดลง โดยราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นเพิ่มต้นทุนต่อผู้ประกอบการ อีกทั้งราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าจากข้อจำกัดในการส่งผ่านราคา ส่งผลให้
ความสามารถการทำกำไรของผู้ประกอบการ ลดลง นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมากกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนจากต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น

กระทบภาระหนี้สูงขึ้น

3) นโยบายการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เป็นความเสี่ยงต่อภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ โดยปี 2021 พบว่า ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและภาครัฐทั่วโลกมีรายจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12% ของ GDP โลก ประเทศที่มีภาระหนี้สูง เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวมากกว่า

จากการศึกษาของ The Economist พบว่า หากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับขึ้น 1% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็น 15% ของ GDP โลก แต่หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น 2% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ของ GDP ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในประเทศปรับลดลงจากต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้น และจะส่งผลการบริโภคของครัวเรือนเช่นกัน

ปัญหาค่าเงินอ่อน

4) ประเทศที่นำเข้าสุทธิมีแนวโน้มเผชิญการขาดดุลเพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินในบางภูมิภาค โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับสูงขึ้น จะทำให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าสุทธิอาจต้องเผชิญกับการขาดดุลทางการค้ามากขึ้น ส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์สุทธิมีแนวโน้มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เกาหลี และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด

5) อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากอาจชะลอการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่าค่าแรง จะทำให้ค่าแรงที่แท้จริงปรับลดลง ซึ่งลดทอนแรงจูงใจในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้ตลาดแรงงานอาจยังตึงตัวต่อไป

ส่งผล “เงินเฟ้อไทย” แค่ไหน

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ย 4 เดือนแรกปีนี้ เทียบกับปีก่อนหน้าปรับเพิ่มขึ้น 4.7% โดย EIC ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 จะเร่งตัวขึ้นถึง 4.9% นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี โดยมีปัจจัยหลักจากราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก และจากราคาอาหารที่ต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม EIC ระบุว่า เงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวขึ้น จะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้านำเข้าของไทยจำนวนมากถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภคขั้นปลายหรือผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากนัก จึงทำให้เงินเฟ้อมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้านำเข้าต่ำ

นอกจากนี้ ถึงแม้ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่เงินเฟ้อไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างจากภาครัฐ โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน

สำหรับในระยะถัดไป อัตราเงินเฟ้อโลกจะส่งผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น จากราคาพลังงานที่ยังคงยืนอยู่ในระดับสูง และการทยอยลดการอุดหนุนราคาจากรัฐ แต่การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น
ของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคจะมีอยู่อย่างจำกัด

เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อีกทั้งปัญหาอุปทานคอขวดที่จะคลี่คลายลงชัดเจนในปีหน้า จะทำให้อุปทานสินค้ามีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยลดลงได้

กนง.คงดอกเบี้ยทั้งปี

EIC จึงคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ เพราะ กนง.น่าจะยังให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มากกว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก

นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต ดังนั้น กนง.จึงจะระมัดระวังการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังต้องการแรงผลัก