ขึ้นดอกเบี้ย-เก็บภาษีหุ้น ?

หุ้น ภาษี เงินบาท
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดยสหรัฐอเมริกา มาถึงจุดที่นักลงทุนเริ่มเรียกว่า bear market หรือตลาดหมี บ่งบอกถึงภาวะตลาดขาลง การเทขาย ดัชนีและราคาหุ้นดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ซบเซาไปหมด ทั้งหุ้น คริปโต และพันธบัตร

นอกจากคำว่า bear market ช่วงนี้ยังมีคำว่า stagflation เข้ามาเขย่าขวัญอีก ด้วยเรื่องติดลบรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกัน และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

ที่มาของทั้งสองคำเกี่ยวข้องกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด เลือกใช้วิธีขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบที่เป็นยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนทำให้ตลาดพากันหวั่นไหว รวมถึงในตลาดของไทย

แม้สภาพการณ์ stagflation ไม่น่าจะเกิดกับไทย จากการประเมินของ รมว.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่พิจารณาจากจีดีพีและเห็นสิ่งที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังค่อย ๆ ฟื้น ประชาชนเริ่มกลับมามีรายได้ เพียงแต่กำลังซื้อจะลดน้อยลง แต่เรื่องที่ต้องติดตามและระทึกไปพร้อมกัน คือการรับมือกับสถานการณ์นี้ ว่าจะถูกวิธีและถูกจังหวะเวลาหรือไม่

ผลการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ด้วยคะแนน 4 ต่อ 3 เสียง ส่งสัญญาณถึงการปรับเพิ่มดอกเบี้ยในเวลาข้างหน้า หลังทุกคนเห็นตรงกันว่าขณะนี้มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อชัดเจนแล้ว

คำถามคือจะปรับดอกเบี้ยช่วงใดจึงเหมาะสม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ให้คำตอบว่า “ช้าเกินไปไม่ดี” เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดจะเป็นปัญหา เพียงแต่การปรับจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ระหว่างที่ตลาดเงินกำลังลุ่ม ๆ ดอน ๆ อีกประเด็นที่ทำให้ตลาดหวั่นไหวคือการเก็บภาษีหุ้น ซึ่งรัฐบาลคาดหมายว่าจะหาเงินเข้ารัฐได้ถึงหมื่นล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า ภาษีหุ้นเว้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว สมควรต้องถึงเวลาจัดเก็บแล้ว เสียงที่ท้วงติงดังมาทันทีจากตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูง ว่าการมาเก็บภาษีจังหวะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่

คำเตือนของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สรุปได้ว่าการเก็บภาษีหุ้นขณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด ที่มีนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทุนทางตรงในตลาดหุ้นไทย และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ

ผลเสียจึงจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ช้าหรือเร็วเกินไปเท่านั้น แต่มาถูกจังหวะหรือไม่