การบินไทย “เทกออฟ” บททดสอบฟื้นฟูกิจการ

(FILES) AFP PHOTO
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ทุกวิกฤตย่อมมีผู้สูญเสีย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสะสมพละกำลังความแข็งแกร่งเพื่อฝ่ามรสุมไปได้

สำหรับ “การบินไทย” แม้ว่าจะต้องล้มกระดานในช่วงการระบาดโควิด-19 แต่แท้จริงแล้วการบินไทยสะสมปัญหาแบบอมโรคมาเป็นเวลายาวนาน

ด้วยสารพัดปัญหาและสารพัดปัจจัย ที่ทำให้หลายยุคหลายสมัยไม่มีใครสามารถปรับเปลี่ยน หรือยกเครื่อง “สายการบินแห่งชาติ” แห่งนี้ได้สำเร็จ

เมื่อ “โควิด-19” เป็นจุดเปลี่ยนทำให้สายการบินทั่วโลกตกที่นั่งลำบากเหมือน ๆ กัน เมื่อทั่วโลกล็อกดาวน์ปิดประเทศ หลายสายการบินเจอปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

สำหรับ “การบินไทย” ก็เช่นกัน เมื่อฝูงบินต้องหยุดให้บริการ ก็ไม่มีกระแสเงินสดที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

เมื่อถึงทางตันทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจส่ง “การบินไทย” ฉลองครบรอบ 60 ปี (ปี 2563) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลายฯ

พร้อมกับปลดล็อกให้ “การบินไทย” พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ด้วยการให้กระทรวงการคลังและธนาคารออมสินลดสัดส่วนการถือหุ้นใน “การบินไทย” ให้ต่ำกว่า 50%

ทำให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และทำให้ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” สิ้นสภาพไปด้วยตั้งแต่ 22 พ.ค. 2563

เป็นการเปิดทางสู่การฟื้นฟูกิจการให้ง่ายขึ้น เพราะการอยู่ ภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทำให้บริษัทต้องรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าคู่แข่งในสมรภูมิเดียวกัน

หลังหลุดพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจก็ทำให้ “ผู้บริหารแผนฟื้นฟู” สามารถทำหลาย ๆ อย่างเพื่อปลดพันธนาการเดิม ๆ ได้

ค่าใช้จ่ายบุคลากรคือเป้าหมายใหญ่ จากที่เดิมเดือนละกว่า 2 พันล้านบาท ปัจจุบันลดเหลือราว 600 ล้านบาท จากพนักงานเกือบ 30,000 คน เหลือไม่ถึง 15,000 คน แน่นอนว่าเป็นความเจ็บปวดของพนักงาน แต่ก็เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต

พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีการจ้างงาน โดย นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของการบินไทย ระบุว่า ปัจจุบันพนักงานลูกเรือเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้าง 3 ปี และกำหนดอายุไม่เกิน 45 ปี เพื่อให้สอดรับกับประสิทธิภาพการทำงาน จากเดิมที่ต้องจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี

การเข้าฟื้นฟูกิจการ ก็เป็นเหมือนการสละ หรือตัดทิ้งทุกอย่างที่ไม่จำเป็น เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป

ตัดขายทุกอย่างเพื่อหากระแสเงินสดเข้ามาต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินเก่า ที่ดินอาคารสำนักงานสาขา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งหุ้นในบริษัทต่าง ๆ

และเมื่อครบ 1 ปี หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบ “แผนฟื้นฟูกิจการ” นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ บมจ.การบินไทย แถลงว่า จากที่ทั่วโลกผ่อนคลายเปิดประเทศ ทำให้รายได้ของการบินไทยฟื้นตัวดีขึ้นมาก โดยเดือน มิ.ย. 2565 ทำรายได้ประมาณ 6,800 ล้านบาท และคาดว่าก.ค.นี้จะทำรายได้ระดับ 8,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้แตะ 8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่แผนลดค่าใช้จ่ายถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและปรับแก้สัญญาเช่าเครื่องบิน

เมื่อแผนสร้างรายได้ทำได้ดี เมื่อ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแผนก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟู ทั้งปรับลดวงเงินขอสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท

รวมถึงการ “แปลงหนี้เป็นทุน” วงเงิน 37,800 ล้านบาท และขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ปล่อยกู้ใหม่ โจทย์สำคัญคือทำให้ส่วนทุนเป็นบวก จากปัจจุบัน “ติดลบ” อยู่ราว 7.5 หมื่นล้าน

เป้าหมายเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของการบินไทยมั่นคงแข็งแรง พร้อมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งในปี 2568

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ “การบินไทย” จะต้องสปีดสร้างรายได้ให้ติดลมบน เพื่อให้มีกระแสเงินสดมากพอเพื่อจ่ายคืนเจ้าหนี้ ที่จะต้องเริ่มจ่ายหนี้ก้อนโตในปี 2566