การบินไทย เติมทุน 8 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟู-เข้าตลาดหุ้นปี 68

การบินไทย

การบินไทยยื่นแก้แผนฟื้นฟูกิจการ สร้างความแข็งแกร่ง แก้ปัญหาทุนติดลบ เติมทุนใหม่ 80,000 ล้านบาท ลดวงเงินกู้เหลือ 12,500 ล้านบาท หลังรายได้ธุรกิจการบินฟื้นตัวดี ยื่นแผน “แปลงหนี้เป็นทุน” 3.78 หมื่นล้าน ขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 2.5 หมื่นล้าน วาดฝันบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ปี 2568

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายกลางครบ 1 ปี หลังจากที่ศาลเห็นชอบเมื่อ 15 มิ.ย. 2564 ซึ่งบริษัทสามารถดำเนินการได้ตามแผนเป็นอย่างดี ทั้งมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น การปรับลดค่าใช้จ่ายพนักงานและสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมถึงการขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องบินเก่าและสำนักงานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำกระแสเงินสดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ปั๊มรายได้ 8 หมื่นล้าน

ขณะที่ในส่วนของการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ก็อยู่ในทิศทางที่ดี หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดประเทศ ทำให้รายได้ของการบินไทยก็ฟื้นตัวจากช่วงล็อกดาวน์โควิดการบินไทยเหลือรายได้แค่ 200-300 ล้านบาทต่อเดือน แต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ประมาณ 6,800 ล้านบาท และคาดว่าในเดือนก.ค.นี้จะสามารถทำรายได้ระดับ 8,000 ล้านบาทต่อเดือน

และคาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีรายได้จะแตะระดับหลัก 10,000 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่าปีนี้รายได้จากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะสามารถขยับเพิ่มเป็น 130,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการจะเพิ่มรายได้จากการให้บริการนั้น จะต้องมีการเพิ่มเครื่องบินใหม่ รวมถึงขยายเส้นทางบินเพิ่ม เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้การบินไทยมีเครื่องบินให้บริการ (รวมไทยสมาลย์) 61ลำ ซึ่งขณะนี้บริษัทก็มีแผนจะนำเครื่องบินเก่าที่อยู่ในแผนที่จะจำหน่ายนำมาซ่อมบำรุงให้กลับมาใช้งานได้เพื่อนำมาเสริมฝูงบินในช่วงไตรมาส 4 อีกจำนวน 5 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส A330 อีกจำนวน 3 ลำ

แก้ไขแผนฟื้นฟู

“จากการฟื้นตัวของรายได้ ปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มเข้ามาอยู่ที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้จากเดิมที่บริษัทระบุว่า จำเป็นต้องหาเงินกู้หรือเงินเพิ่มทุนเข้ามา 50,000 ล้านบาท ความจำเป็นในการขอเงินกู้ใหม่ลดลง บริษัทจึงยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ศาลดำเนินการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นชอบต่อไป”

“โดยแผนดังกล่าวเน้นปรับโครงสร้างด้านเงินทุนเป็นหลัก โดยเติมเงินทุนใหม่เข้ามาจำนวน 80,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขอปรับลดกรอบจัดหาเงินทุนใหม่เหลือ 12,500 ล้านบาท และปรับรายละเอียดของแผนฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจการบินที่กลับมาเร็วขึ้น” นายปิยสวัสดิ์กล่าวและว่า

สำหรับวงเงินใหม่นั้นจากการประเมิน บริษัทคาดว่ามีความต้องการใช้จริงเพียงกว่า 10,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาสร้างรายได้เป็นหลัก เช่น พัฒนาบริการบนเครื่องบิน ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ พัฒนาช่องทางการขาย เป็นต้น

เรื่องกระแสเงินสด การบินไทยยังมีทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ขาย คืออาคารสำนักงานและที่พักในต่างประเทศ เช่น ที่โรม, ลอนดอน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งหากขายได้ก็จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาอีก ขณะที่ในส่วนของการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายก็ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง โดยที่ลดได้มากก็คือค่าใช้จ่ายพนักงาน ที่มีการปรับลดจำนวนจากเกือบ 30,000 คน เหลือ 14,500 คน รวมทั้งการปรับลดสวัสดิการต่าง ๆ จากเดิมบริษัทมีค่าใช้จ่ายพนักงานเดือนละกว่า 2,400 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือประมาณ 700 ล้านบาท

แปลงหนี้เป็นทุน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องแผนการ “แปลงหนี้เป็นทุน” ในกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ วงเงิน 37,800 ล้านบาท ในราคา 2.54 บาทต่อหุ้น ซึ่งวงเงินแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24.5% ของมูลหนี้ของสองกลุ่มนี้

“ในส่วนนี้จะเป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้ลดลง ซึ่งตามแผนจะเริ่มทยอยชำระคืนเจ้าหนี้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป”

นอกจากนี้บริษัทจะต้องแก้ปัญหาในส่วนของทุนที่ติดลบอยู่ประมาณ 7.5 หมื่นล้าน จะต้องทำให้ทุนเป็นบวก นอกจากการแปลงหนี้เป็นทุนส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะมีการเตรียมแผนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ วงเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้กับเจ้าหนี้เดิม รวมทั้งผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณที่ดี เพราะจากที่มีการพูดคุยกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ ก็พร้อมที่จะแปลงหนี้เป็นทุน และสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ด้วย

รวมทั้งแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถลดภาระการชำระดอกเบี้ยได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท

“ตามแผนจัดหาเงินทุนดังกล่าวรวมเป็นทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างเงินทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในปี 2567” นายศิริกล่าว

ออกจากแผนฟื้นฟูปี’68

ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากรายได้ของธุรกิจการบินที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง และหาแผนการแก้ไขให้ทุนจดทะเบียนเป็นบวกได้ในปี 2567 นี้จะทำให้บริษัทสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น โดยคาดว่าการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูฯที่อยู่ภายใต้อำนาจศาลล้มละลายกลางในปี 2568 ซึ่งหลังจากนั้นการบินไทยมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้ง