มรรค 8 CSR : ทางสายกิจการ

หนังสือมรรค 8 CSR
คอลัมน์ : CSR Talk
ผู้เขียน : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ตั้งแต่มีโอกาสเข้ามาทำงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR หลังจากที่ได้ร่วมก่อตั้งสถาบันไทยพัฒน์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 และได้ริเริ่มเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR Network) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชน ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ได้เห็นพัฒนาการเรื่อง CSR ในแต่ละยุค กับชุดความคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง

ใครที่เคยคลุกคลีกับเรื่อง CSR ในยุคต้น ๆ คงเคยได้ยินคำปรารภว่า “CSR มันเกี่ยวอะไรกับธุรกิจ ถ้าอยากช่วยเหลือสังคมมาก ก็ไปทำมูลนิธิไป”

ผ่านมาในยุคปัจจุบัน คำปรารภที่ได้ยินมีว่า “ใครไม่ทำเรื่องนี้ อยู่ไม่ได้หรอก ไปดูกิจการในวอลล์สตรีตสิ เบอร์ต้น ๆ ของโลกยังต้องทำเลย”

เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด ชุดความคิดหนึ่ง จะเป็นจริง และใช้ได้ในสมัยหนึ่ง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง จะมีชุดความคิดอื่น ที่เป็นจริงและถูกนำมาใช้แทน เพราะการทำ CSR ไม่มีชุดความคิด หรือทฤษฎีเดียวที่จะยึดเป็นสรณะได้ ทำให้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา จึงเกิดคำใหม่ ๆ ที่มีผู้นำเสนอ เช่น CSV, ESG, SD, SE ฯลฯ ด้วยว่าจะมาทดแทนเรื่อง CSR บ้าง หรือจะมาต่อเติมเป็นส่วนขยายของเรื่อง CSR บ้าง

ในระหว่างการทำงานตลอด 20 ปี เจอทั้งบริษัทหน้าเก่าที่ต้องการยกระดับงาน CSR และบริษัทหน้าใหม่ที่ต้องการเริ่มงาน CSR อย่างเป็นกิจจะลักษณะ จนพบว่าบทสนทนาที่มีร่วมกันต่อเรื่อง CSR มักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า CSR คืออะไร ? ใครเป็นคนทำ ? ทำอย่างไร ? ทำไมต้องทำ ? ต้องทำเมื่อไร ? ทำแบบไหนถึงจะดี ? แล้วควรเน้นที่ไหน และทำแล้วผลเป็นของใคร ?

คำถามที่ว่า CSR อะไร (what) ที่ควรทำ ? องค์กรจะต้องตระหนักว่าที่มาของกิจกรรม CSR ซึ่งสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืน จะมีมูลเหตุมาจากการ “ทำเพราะใช่” ไม่ใช่ทำเพราะชอบคือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อองค์กร ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทิศทางเดียวกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

คำถามที่ว่าใคร (who) ควรเป็นคนทำ CSR ? ก็ต้องระลึกว่าจุดที่หลายองค์กรก้าวข้ามไม่ได้คือขีดความสามารถของส่วนงาน CSR ในการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า CSR เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ หรือในการปฏิบัติงานประจำวัน ไม่ใช่เป็นงานเพิ่ม หรือภาระนอกเหนือจากงานปกติ

คำถามที่ว่าควรทำ CSR อย่างไร (how) ? สิ่งที่องค์กรจะมองข้ามไม่ได้เลยคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เป็นต้นเรื่องของการหารูปแบบหรือวิธีดำเนินงาน CSR ที่ตรงกับความสนใจหรือสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มนั้น ๆ และชื่อของการดำเนินงาน CSR ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะใช้คำเรียกที่แตกต่างกันออกไป

คำถามที่ว่าทำไม (why) ต้องทำ CSR ? คำตอบมีมากกว่าคำตอบเดียว ธุรกิจที่มองเรื่องความยั่งยืนของกิจการเป็นที่ตั้งจะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ ประชาสัมพันธ์ ขณะที่ธุรกิจซึ่งมุ่งไปที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าร่วมระหว่างกิจการกับสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

คำถามที่ว่าต้องทำ CSR เมื่อไร (when) ? ข้อนี้หลายองค์กรทราบอยู่แล้วว่า CSR ในเวลางาน และ CSR นอกเวลางานของบุคคล รวมทั้ง responsive CSR และ strategic CSR ขององค์กร ต่างมีความสำคัญตามบริบทที่บุคคลหรือองค์กรนั้น ๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำเรื่องหนึ่ง เพื่อทดแทนอีกเรื่องหนึ่งได้ เนื่องเพราะมีการให้ผลได้ที่ต่างกัน

คำถามที่ว่า CSR แบบไหน (which) ถึงจะดี ? หลักการในเรื่องนี้ถูกระบุไว้ในมาตรฐานและแนวทาง CSR ที่ภาคเอกชนนิยมใช้อ้างอิง ซึ่งแนะนำให้องค์กรมีการดำเนินการในประเด็นความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นในประเด็นที่องค์กรมีความเกี่ยวข้อง หรือมีการสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามที่ว่า เรื่อง CSR ควรเน้นที่ไหน (where) ? มีเกณฑ์พิจารณาอยู่ตรงที่ความสามารถในการระบุพิกัด หรือบริเวณที่ผลกระทบเกิดขึ้น เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ อันเป็นกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR สัมฤทธิผล ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดทางทรัพยากร เพราะองค์กรไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่สามารถทำให้ถูกเรื่องได้

คำถามที่ว่า ทำ CSR แล้วผลเป็นของใคร (whose) ? ข้อนี้มีคำตอบสองฝั่งคือผลได้ตกเป็นของส่วนรวม (คิดแบบ outwards) กับผลได้ตกเป็นขององค์กร (คิดแบบ inwards) ซึ่งปัจจุบัน มีหลักการที่เรียกว่า “ทวิสารัตถภาพ” หรือ “double materiality principle” รองรับทั้งสองฝั่งคือพิจารณาที่ผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (people และ planet) ควบคู่กับการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท (profit)

สำหรับผู้สนใจที่อยากจะได้คำตอบของ 8 คำถามข้างต้น ในเวอร์ชั่นยาว ๆ ผมได้ประมวลไว้เป็นหนังสือชื่อ “มรรค 8 CSR : ทางสายกิจการ” โดยเป็นคำตอบจากประสบการณ์ในทรรศนะส่วนตน ที่ได้พบเห็นปรากฏการณ์ในบริษัทหลาย ๆ แห่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่สามารถนำไปอ้างอิงตามหลักวิชา

แต่น่าจะพอเป็นประโยชน์กับองค์กรที่มีข้อคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเช่นกัน และถือโอกาสใช้เป็นหนังสือฉลองวาระที่สถาบันไทยพัฒน์มีอายุครบ 20 ปี เป็นหลักไมล์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้น

หมายเหตุ – องค์กร และผู้ที่สนใจ สามารถขอรับเล่มหนังสือ หรือดาวน์โหลดเป็นไฟล์หนังสือได้ที่เว็บไซต์ thaipat.org โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป