กรุงศรี เดินหน้า Net Zero ธนาคารพาณิชย์เพื่อความยั่งยืน

กรุงศรี

เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือประกาศเดินหน้าโครงการ “Krungsri Zero Waste” ด้วยแนวคิด “Race to Net Zero” รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ผ่าน 3 แผนงาน ได้แก่

หนึ่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573

สอง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593

สาม ขยะ RDF (Refuse-Derived Fuel) เป็นศูนย์ภายในสิ้นปี 2565 (Zero RDF) โดยจะไม่มีขยะ RDF จากธนาคาร เพราะจะนำไปสู่บ่อฝังกลบ อีกทั้งยังมีเป้าหมายจะโฟกัสด้าน ESG มากขึ้น ตอกย้ำความเป็นผู้นำภาคการเงินด้านความยั่งยืนบนวิสัยทัศน์ The most sustainable commercial bank in Thailand

“พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงหลายปีผ่านมา ภาคสังคมเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกรุงศรีในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบเพื่อบรรลุพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาอย่างต่อเนื่อง

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย กรุงศรี
พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นผู้นำภาคการเงินที่ร่วมรณรงค์ด้านการรักษาสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ผ่านโครงการ Krungsri Zero Waste ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นแผนพัฒนาเข้าด้วยกันกับกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

กรุงศรีเริ่มโครงการ Krungsri Zero Waste เมื่อปี 2561 เพื่อลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประสบความสำเร็จในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ในสำนักงานใหญ่ และได้รับรางวัล Best Environmental Responsibility จาก Corporate Governance Asia ในปี 2562 ความสำเร็จของกรุงศรีในปี 2563 รวมถึงความสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 8.64 ล้าน kgCO2e และความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนของภาคธนาคาร รวมถึงการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ ESG

“ในปี 2564 กรุงศรีปักหมุดสำคัญของธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Krungsri Carbon Neutrality Vision) พร้อมแผนงานในการเร่งลดคาร์บอนที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง อันสอดคล้องกับเป้าหมาย และแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Nationally Determined Contributions : NDCs)

ด้วยแผนลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 ด้วยการสนับสนุนลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุน และดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ รวมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนจากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปี 2593”

กรุงศรี

“พูนสิทธิ์” กล่าวต่อว่า ในปี 2565 กรุงศรีกรุ๊ปจะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลให้มากขึ้น ใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า พร้อม ๆ กับการใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายลดขยะ RDF ให้เหลือศูนย์ภายในสิ้นปี 2565 และจะขยายแนวคิดนี้สู่วงกว้างด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรองค์กรต่าง ๆ ในการรณรงค์ลดขยะ RDF ในปี 2566 โดยจะเริ่มจากองค์กรระดับประเทศที่ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิต

“สำหรับขยะเชื้อเพลิง RDF เป็นประเภทขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิล แต่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงและเผาไหม้จนหมดโดยไม่มีการนำไปสู่บ่อฝังกลบ ตรงนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้รู้จัก รู้ลด รู้แยก ขยะ RDF จนกลายเป็นต้นทางของการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบเชิงลบจากขยะอย่างเป็นรูปธรรม และได้ผลในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องโฟกัส เช่น เรื่องของ ESG ที่ผ่านมา เราก็ทำมาตลอด แต่จะต้องมีการจัดระบบบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ที่เป็นเลิศ ต้องมีการผนวกมิติด้าน ESG กับกลยุทธ์ นโยบาย และเป้าหมายธุรกิจ เช่น การวัด KPI ต่อจากนี้จะไม่ได้วัดแค่เรื่องกำไรสุทธิ หรือ NPL (Non-Performing Loan) ฯลฯ”

“แต่อนาคตจะมี KPI ด้าน ESG มากขึ้น พนักงานของเราจะต้องเข้าใจมิตินี้ รวมถึงจะมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการดำเนินธุรกิจธนาคาร และยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตธนาคารพาณิชย์จะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูล เช่น หากมีการปล่อยกู้ให้ลูกค้า 2 ล้านล้านบาท ก็ต้องทราบว่าเงินที่เราปล่อยไป ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร่ อันนี้เป็นเรื่องยากมาก แต่เป็นความคาดหวังจากภาครัฐ จากกลุ่มนักลงทุน และประชาสังคม ซึ่งเราพยายามจะทำ และจะใช้มิติด้าน ESG ในการแข่งขันเชิงธุรกิจ”


“อย่างไรก็ตาม เรื่อง ESG นั้นมีหลายประเด็นมาก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละองค์กรจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำ เมื่อก่อนเป็นเพียงทางเลือก องค์กรจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่มาตอนนี้เราเจอวิกฤตโควิด-19 บวกกับสภาวะโลกร้อน ESG จึงกลายเป็นทางรอดที่ทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสนใจ”