ESG ซีพีเอฟ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ซีพีเอฟ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรได้ขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “CPF 2030 Sustainability in Action” มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสถาบันไทยพัฒน์จัดอันดับให้ซีพีเอฟ เป็น 1 ในบริษัทที่เข้าไปอยู่ในทำเนียบ ESG100 Company จาก 851 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากมีการดำเนินงานโดดเด่นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และยึดมั่นธรรมาภิบาล (Environmental Social and Governance : ESG)

กล่าวกันว่า การเข้าไปอยู่ใน ESG100 เป็นปีที่ 6 สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น เป็นแบบอย่างที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารที่นำ ESG ไปใช้ในทุกห่วงโซ่อุปทาน และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของบริษัท

“ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้การเติบโตอย่างยั่งยืน อันสอดรับกับปรัชญา “3 ประโยชน์” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ กล่าวคือ การที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจในประเทศใดก็ตาม ต้องสร้างสรรค์และนำแต่สิ่งที่ดี เทคโนโลยีที่ดี ผลิตสินค้าที่ดี เพื่อให้คนในสังคมได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย อร่อย มีคุณค่าโภชนาการ ควบคู่ดูแลสภาพแวดล้อมและสังคมให้ดี

“โดยเราวางกลยุทธ์ความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่อาหารมั่นคง, สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่สังคม คืนสมดุลให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน นํ้า ป่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสําคัญของการผลิตอาหาร ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจมากถึง 40 ประเทศทั่วโลก เราจะเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหารรองรับผู้บริโภคทั่วโลก มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเสริมเกษตรกร คู่ค้า และสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน มีการให้ความรู้เกษตรกร เพราะบริษัทมีพันธสัญญากับเกษตรกรรายย่อย (contract farming) ทั้งยังได้สร้างมาตรฐานให้เกษตรกรทำฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระบวนการบริหารจัดการของเสีย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย”

ซีพีเอฟ

“ยกตัวอย่างสิ่งที่เราดำเนินการมากที่สุดในช่วงผ่านมาคือการทำ Biogas Energy/Biomass Energy หรือพลังงานชีวภาพ และพลังงานชีวมวล เนื่องจากเรามีฟาร์มเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทั้งที่อยู่ในระบบของเราเอง และเกษตรกรเครือข่ายจำนวนมาก เราจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการของเสียจากฟาร์ม เพื่อนำกลับมาเปลี่ยนเป็นพลังงานที่สามารถใช้ประโยชน์ได้”

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทุกมิติ ประกอบกับหาจังหวะเวลาในการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น กระบวนการผลิตโดยประหยัดพลังงาน พลังงานไฟฟ้า พลังงานน้ำเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมีโครงการ “CPF Restore the Ocean” ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือ และลงมือทำ โดยสร้างความตระหนักรู้สู่พนักงานในองค์กร เพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเล ด้วยการลดปริมาณขยะในทะเลและขยะชายฝั่ง เพื่อนำมาจัดการอย่างถูกวิธี ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมกับดักขยะทะเล, กิจกรรมเก็บขยะชายหาด, กิจกรรมเก็บขยะท่าเรือ (โครงการขยะคืนฝั่ง และกิจกรรมขยะดีมีค่า)

“ประสิทธิ์” กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นซีพีเอฟยังประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ภายในปี 2563-2568 โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตร้อยละ 15, ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 30, ลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการ
ผลิต ร้อยละ 35 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 25 ด้วยการดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ

อาทิ ในปีนี้บริษัทยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในกระบวนการผลิตของบริษัททั้งหมด (Coal Free 2022) และปัจจุบันบริษัทเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 27 ของการใช้พลังงานทั้งหมด

“รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ (Robotics) และระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกหน่วยธุรกิจใช้เป็นหลักและแนวทางในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียด้วย”

นอกจากการใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว บริษัทยังดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ภายใต้โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บริเวณพื้นที่ 6,971ไร่ ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2564 -2568) ของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของซีพีเอฟ จนทำให้ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่ม ESG100 ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ESG เป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร ที่พร้อมจะขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน