พิสูจน์ความยั่งยืน ผ่านข้อมูล ESG

คอลัมน์ : CSR TALK
ผู้เขียน : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ สถาบันไทยพัฒน์

สาเหตุที่ภาคธุรกิจนิยมจัดทำและเผยแพร่รายงานแห่งความยั่งยืน (sustainability report) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มิใช่เพียงเพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและพร้อมต่อการตรวจสอบซักถามเท่านั้น

แต่รายงานแห่งความยั่งยืนยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการปรับปรุงการดำเนินงานใน3 ด้านอย่างเป็นระบบ โดยมีตัวบ่งชี้การดำเนินงานและแนวการบริหารจัดการที่ชัดเจน ตามหลักการที่ว่า “เรื่องที่วัดผลได้ยาก จะบริหารจัดการได้ยาก” (You can’t manage what you can’t measure.)

การที่รายงานแห่งความยั่งยืนได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง เนื่องเพราะเป็นการให้ข้อมูลที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน (nonfinancial disclosure) ได้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของกิจการ นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับจากรายงานประจำปีในแบบเดิม

ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงความสามารถขององค์กรและผลประกอบการที่ผ่านมาในอดีตของกิจการ

ความแตกต่างสำคัญระหว่างรายงานทั้ง 2 ฉบับอยู่ตรงที่

ประการแรก รายงานแห่งความยั่งยืน มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ใช้รายงาน (target audience) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ภาคประชาสังคมจนถึงกลุ่มผู้ลงทุน ขณะที่รายงานประจำปีในรูปแบบเดิมจะเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ลงทุน (investors) เป็นหลัก

ด้วยเหตุที่กลุ่มผู้ใช้รายงานแต่ละกลุ่มมีความคาดหวัง หรือมีความสนใจในข้อมูลที่เปิดเผยไม่เหมือนกัน จึงนำมาสู่ความแตกต่างในที่สุด

ประการที่สอง สารัตถภาพ (materiality) หรือสาระสำคัญของข้อมูลที่นำมาเปิดเผย โดยในรายงานแห่งความยั่งยืนจะให้องค์กรพิจารณานัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากองค์กร (ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม)

โดยวิเคราะห์เทียบกับอิทธิพลต่อการประเมินและตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ได้ประเด็นที่มีสาระสำคัญ (material topics) มาบรรจุไว้ในรายงาน หลังจากการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นได้ทั้งพนักงาน เจ้าของกิจการ ผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน ผู้ลงทุน เจ้าหนี้ ลูกค้า ฯลฯ

ขณะที่รายงานประจำปีในรูปแบบเดิมจะพิจารณาสาระสำคัญของข้อมูลที่นำมาเปิดเผยจากสิ่งที่เกี่ยวเนื่องและสำคัญซึ่งส่งอิทธิพลต่อการประเมินของผู้ลงทุน ว่ามีผลกระทบกับความสามารถต่อการสร้างคุณค่าให้กับกิจการอย่างไร ดังนั้นในการวิเคราะห์ครั้งนี้จึงได้มาซึ่งประเด็นนัยสำคัญทางการเงิน (financially material topics) อันส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน หรือเจ้าของเงินทุน

จนทำให้ในปัจจุบัน กิจการที่ต้องการสื่อสารถึงผลการดำเนินงานขององค์กรทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จึงเลือกที่จะจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนเพิ่มเติมจากรายงานประจำปีในรูปแบบเดิม (หรือใช้วิธีผนวกข้อมูล ESG และข้อมูลทางการเงินรวมไว้ในรายงานฉบับเดียวกัน)

ในความเป็นจริง ยังมีกิจการอีกจำนวนมากที่คงเปิดเผยข้อมูลโดยใช้การรายงานประจำปีในรูปแบบเดิม ซึ่งยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูล ESG จึงทำให้องค์กรไม่สามารถกำหนดตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ไม่มีการติดตามวัดผล รวมถึง
ไม่มีการบริหารจัดการในประเด็นสำคัญเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนและการสร้างคุณค่าในระยะยาว

นอกจากนี้ กิจการยังสูญเสียโอกาสต่อการเข้าถึงเม็ดเงินลงทุนที่ถูกบริหารจัดการภายใต้หลักการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งจากการสำรวจของแมคคินซีย์และกลุ่มพันธมิตรการลงทุนที่ยั่งยืนระดับสากล (Global Sustainable Investment Alliance : GSIA) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์โดยใช้ปัจจัย ESG ทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 22.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ. 2016 ขยับขึ้นมาเป็น 30.6 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ. 2018 และมาอยู่ที่ 37.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ. 2020

ทั้งยังคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 53 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ. 2025 คิดเป็นร้อยละ 37.72 หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของสินทรัพย์การลงทุนทั้งหมดที่ 140.5 ล้านล้านเหรียญ

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันนี้กิจการที่ขึ้นชื่อว่าดำเนินธุรกิจด้วยวิถียั่งยืน จำเป็นต้องเปิดเผยทั้งข้อมูลที่มีนัยสำคัญทางการเงินแล้วสื่อสารให้แก่กลุ่มผู้ลงทุน และข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นผลมาจากการทดสอบสารัตถภาพแล้วสื่อสารให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย

เพราะบรรทัดสุดท้ายของการรายงานคือความโปร่งใสพร้อมรับการตรวจสอบที่ต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียโดยรวม ตลอดจนการปรับปรุงการดำเนินงาน โดยใช้การรายงานเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวิถีของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการควบคู่ไปพร้อมกัน