บริบท ESG ในโลกยุคใหม่ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

ESG

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดช่วงเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างให้ความสำคัญกับ “ESG” (Environmental, Social, Governance) จนถึงขนาดนำมาเป็นกลยุทธ์ขององค์กรที่จะต้องดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล

ทั้งนั้นเพราะเป็นเรื่องที่โลกพิสูจน์แล้วว่า หากบริษัทใดไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ บริษัทเหล่านั้นอาจไม่สามารถสยายปีกไปลงทุนในต่างประเทศได้ หรือไม่สามารถหาพาร์ตเนอร์, พันธมิตรเพื่อร่วมลงทุน ทั้งนั้นเพราะบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต่างมุ่งดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ “ESG” ทั้งสิ้น

ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ บมจ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่นอกตลาดฯ และบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างมาก เพราะคุณค่าของ “ESG” ต่างเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “มนุษย์” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ไม่ว่าจะเป็นการหายใจเพื่อนำอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่ร่างกาย

ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ในการบริโภคและอุปโภคกับร่างกายทุกส่วนที่ถูกออกแบบมาโดยจะต้องไม่มีสารพิษเจือปนอยู่ในสินค้าเหล่านั้น

หรือแม้แต่การเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้ที่ไม่ใช้สารเคมีในการฆ่าแมลง และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผลเช่นนี้จึงทำให้เรื่องของ “ESG” ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างมาก จนถึงขนาดหลาย ๆ บริษัทต่างตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปีเท่านั้นเท่านี้ หรือบางบริษัทพยายามส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับชั้นบรรยากาศที่ทุกวันนี้ต่างเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากมาย

สำคัญไปกว่านั้น เรื่องของ “ESG” ยังเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับการดำเนินธุรกิจสีเขียวในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเหมือนกับบางบริษัทที่รายงานความยั่งยืนผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ จึงขออนุญาตหยิบยกมาเพื่อให้มองเห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนในอนาคต

กสิกรไทยชูกลยุทธ์ “กรีน ดีเอ็นเอ”

ธนาคารกสิกรไทย ดำเนินธุรกิจโดยการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงธุรกิจที่สามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อันนำไปสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนของสังคมและประเทศชาติ

นอกจากนั้นธนาคารยังกำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Policy) ขึ้น โดยนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืนใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของ “ESG” เพื่อนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามาเป็นแกนหลักในการดำเนินงานของธนาคารอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านเศรษฐกิจ – การเป็นธนาคารที่รับผิดชอบเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะบรรลุหลักการ ESG เพื่อเป็นธนาคารที่มีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่การดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ทั้งนั้นเพื่อให้ธุรกิจดำเนินด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกด้านของลูกค้า ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างสรรค์ คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการอย่างดีที่สุดเกินกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้

ด้านสังคม – ธนาคารจะมอบความรู้ทางการเงินแก่ลูกค้า ชุมชน และสังคม เพื่อให้ประชาชนในสังคมสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างสะดวกในทุกพื้นที่ และสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเอง จนทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญ ธนาคารปลูกฝังค่านิยม “กรีน ดีเอ็นเอ” เพื่อสร้างให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเคารพสิทธิมนุษยชน และความแตกต่างหลากหลาย

ด้านสิ่งแวดล้อม – ธนาคารมุ่งดำเนินธุรกิจสู่การเป็นผู้พิทักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมกับพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 อันสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส นอกจากนั้นธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนชั้นนำของประเทศไทย โดยสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท ภายในปี ค.ศ. 2030 ทั้งยังจะเป็นผู้บุกเบิกการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมเจอร์ฯปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่

บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ยึดมั่นในนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการสร้างสมดุลของทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักบรรษัทภิบาล อันสอดคล้องกับกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ESG (Environmental, Social and Governance) พร้อมทั้งบริหารจัดการองค์กรให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และปรับตัวได้เร็ว เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของโลก (United Nations Global Compact : UN Global Compact and Sustainable Development Goals : SDGs) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์

ฉะนั้นเมื่อมาดูรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG จะพบว่าบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ (Rule of Success) ซึ่งยึดถือเป็นหัวใจของกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ

“แคนนอน” มุ่งประโยชน์สุขส่วนรวม

อาจเป็นเพราะ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด นำหลักปรัชญา “เคียวเซ” ที่มุ่งเน้นเรื่อง “การใช้ชีวิตและการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม” จึงทำให้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อตอบสนองความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานอันถูกสุขลักษณะและปลอดภัย

โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Canon Green Technology เทคโนโลยีสีเขียวที่มอบความสมดุลให้กับโลก นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อมที่ต้องพัฒนาควบคู่กันในทุกกระบวนการผลิต จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็น “Recycled Plastic” ยิ่งเฉพาะส่วนประกอบของตัวเครื่อง จะใช้พลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% และ “Lead-free” ที่ปราศจากสารตะกั่วที่ผ่านมาตรฐานควบคุมสารอันตรายตามมาตรฐานยุโรป RoHS รวมถึงเรื่องของ “Canon Green Technology” เทคโนโลยีสีเขียวที่ทำงานร่วมกันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม จนทำให้การออกแบบตลับหมึกและขนาดบรรจุภัณฑ์ประหยัดพื้นที่การขนส่ง ประหยัดพลังงาน และช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำหมึกทุกหยดอย่างคุ้มค่าที่สุด

“เอสโซ่” นำ ESG มุ่งสู่ความยั่งยืน

ขณะที่ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ต่างให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ทั้งยังกำหนดเป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ที่สำคัญ บริษัทยังเลือกใช้ระบบการตรวจสอบการรั่วไหลและซ่อมบำรุง (LDAR) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนเพื่อเพิ่มสัดส่วนในการใช้ก๊าซเชื้อเพลิงแทนเชื้อเพลิงเหลว ทั้งยังติดตั้งหัวเผาไหม้พิเศษที่สามารถลดการระบายก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx) อีกด้วย

กล่าวกันว่า จากความพยายามดังกล่าวตลอดช่วงหลาย 10 ปีผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ศรีราชา ลดการปล่อยสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compounds), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx) ไปกว่าร้อยละ 60 เพราะบริษัทใช้ระบบ “บัญชาการและควบคุม” อย่างมีระเบียบแบบแผนตามกลไกของการดำเนินงานสู่ความยั่งยืน ภายใต้กรอบกติกาสากลอย่าง “ESG” เพื่อนำองค์กรสู่ความยั่งยืนในอนาคต