มิติความยั่งยืน สิงห์ เอสเตท ชู 3 แกนหลักรักษ์โลก

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2557 และเติบโตมาอย่างต่อเนื่องผ่าน 4 ธุรกิจ คือ หนึ่ง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย สอง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าและอาคารสำนักงาน สาม ธุรกิจโรงแรม และสี่ ธุรกิจเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน(infrastructure) โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ประกอบด้วย 3 แกนหลัก คือ Good Governance, Living Quality, และ SeaYouTomorrow

“ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อธิบายแนวทาง ESG ของสิงห์ เอสเตท ว่า ประกอบด้วย 3 แกนหลัก ดังนี้

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์

หนึ่ง Good Governance ประกอบกิจการที่ดีในห่วงโซ่ธุรกิจ สร้างการมีส่วนร่วมภายในห่วงโซ่ธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายด้านความยั่งยืน ดูแลให้มีการปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรมต่อคู่ค้า เคารพกฎระเบียบ กฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคลของผู้มีส่วนได้เสีย ดูแลไม่ให้มีการละเมิดหรือเลือกปฏิบัติ

สอง Living Quality ยกระดับคุณภาพชีวิตครอบคลุมมิติความยั่งยืนด้านสังคม ผ่านการดำเนินงานทุกรูปแบบเพื่ออีกระดับของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับเหมา ผู้เช่า ลูกค้า ผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงชุมชนรอบข้าง ทั้งในประเด็นด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย การอยู่อาศัยที่สุขสบาย การพัฒนาศักยภาพตัวเอง การมีอาชีพและรายได้ ฯลฯ

สาม SeaYouTomorrow ทะเลวันพรุ่งนี้อยู่ในมือคุณ ครอบคลุมมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ บนภาคพื้นดิน ที่อาจส่งผลไปถึงทรัพยากรทางทะเลและภาวะโลกร้อน

“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย ตั้งเจตนารมณ์ว่า Smart, Healthy, and Sustainable Living ผ่านการออกแบบและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัยที่สุขสบาย เ

พื่อคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยและชุมชนรอบโครงการ ซึ่งสิงห์ เอสเตท มิได้จำกัดแนวคิดดังกล่าวอยู่เพียงที่พักอาศัย แต่ขยายไปยังการออกแบบอาคารสำนักงาน โรงแรม และการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ด้วย”

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า สร้างภายใต้เจตนารมณ์ Sustainable Building Standards เราพัฒนาอาคารสำนักงานของบริษัทให้เป็นอาคารที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกกลุ่ม ออกแบบปรับปรุงและก่อสร้างตามมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรฐานสากล LEED และมาตรฐานอาคารเขียว TREES เป็นต้น นอกจากนั้นยังบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs (reduce, reuse, recycle) และการคัดแยกขยะ

ส่วนธุรกิจโรงแรม เน้นปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในทุกโรงแรม พัฒนาประโยชน์ที่แท้จริงให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และรักษาความสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล นอกจากนั้นยังมุ่งจัดการพลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่ที่เหมาะสมและชดเชยคาร์บอน ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งในทุกโรงแรมของบริษัท

ทั้งยังจัดซื้อสินค้าผ่านกระบวนการจัดซื้อสีเขียว จัดซื้อสินค้าท้องถิ่น สนับสนุนสินค้าจากชาวประมงและจัดเมนูอาหารแบบ farm-to-table และส่งเสริมการจ้างงานคนในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่น โดยทุกโครงการก่อสร้างเราจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระหว่างและภายหลังโครงการแล้วเสร็จ รวมทั้งกำหนดมาตรฐาน S Safety Standard เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและผู้รับเหมา

“ฐิติมา” กล่าวด้วยว่า เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกรวน ตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG13 Climate Change ขององค์การสหประชาชาติ สิงห์ เอสเตทจึงมุ่งสู่การเป็นองค์กร carbon neutrality ในปี 2573 โดยตั้งเป้าปลูกป่าให้ได้พื้นที่อย่างน้อย 1 ล้านตารางเมตร หรือกว่า 625 ไร่ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“พื้นที่นำร่องได้รับการสนับสนุนด้านพื้นที่ปลูกป่าจากสิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย จำนวน 625 ไร่ เป็นเขตพื้นที่เชิงเขาและเขตป่ารอยต่อที่มีความสำคัญในการสร้างป่าในระยะยาว และจะขยายต่อสู่ป่ากลางน้ำ หรือป่าในเมือง โดยคาดว่าจะเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ต่อด้วยพื้นที่ป่าปลายน้ำ หรือป่าโกงกาง ที่เกาะพีพี ตั้งเป้าโครงการระยะยาว 10 ปี จะมีการติดตาม ตรวจวัด และประเมินผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงการจัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกควบคู่กันไป”

เพราะป่ามีความสำคัญที่มาเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทั้งยังสำคัญต่อการสร้างบลูคาร์บอน (blue carbon) ที่สำคัญ เราดำเนินการปลูกป่าบนมาตรฐาน AGI (Asian Green Initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล มีการประเมินวัดผลการเติบโตและขยายตัวของพื้นที่ป่า รวมถึงต้องเป็นพื้นที่ป่าที่เปิดโอกาสให้ชุมชนรอบข้างเข้ามามีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน