ม.33 แห่ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย 6 หมื่นราย ช่วยไถ่ถอนจำนอง-ลดดอกเบี้ย

บ้าน
Photo: Breno Assis/unsplash

“สุชาติ” รมว.แรงงาน เผยยอดผู้ประกันตน ม.33 ยื่นจองคิวขอสินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน กว่า 6 หมื่นราย ขณะนี้ ธอส. อนุมัติปล่อยกู้แล้ว 3,955 ล้านบาท

วันที่ 31 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ระหว่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตน มาตรา 33 ซึ่งได้ดำเนินการเปิดให้ผู้ประกันตนขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ปิดรับจองคิวแล้ว มียอดผู้ประกันตนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60,937 ราย โดยผู้ประกันตนที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 3,339 ราย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,955 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 27 มกราคม 2566) ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ดำเนินการทยอยอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกันตนที่ได้จองคิวที่เหลืออยู่ตามลำดับอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ภายใต้กรอบวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อย่างเต็มที่

นายสุชาติ รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงภารกิจสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อสอดคล้องกับนโยบาย “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนจึงร่วมผลักดันให้บรรลุความสำเร็จทุกกลุ่มเป้าหมาย

“ผมมีความเชื่อมั่นว่า โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อผู้ประกันตน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดจากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี

วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท จะช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้ผู้ใช้แรงงานได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย”