ค้นหานายจ้างดีเด่นปี’66 ขับเคลื่อนพนักงานสร้างธุรกิจยั่งยืน

บริษัท คินเซนทริค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลระดับโลก ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเปิดตัวโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 (Kincentric Thailand Best Employers 2023) ที่จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 23

ภายในงานมีเสวนา 2 หัวข้อ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากองค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นฯ ปี 2565 คือ หัวข้อที่หนึ่ง Leveraging Technology to Enhance Employee eXperience ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาร์วินบอกซ์ ประจำประเทศไทย, นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด และ ธนยศ ครุฑระเบียบ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด

ส่วนหัวข้อที่สอง Engaging Leaders that Accelerate Talent for Tomorrow ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และ ปอลิน ปอแก้ว ผู้จัดการโครงการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่น ประจำปี 2565

“ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ” กรรมการผู้จัดการและพาร์ตเนอร์ คินเซนทริค (ประเทศไทย) กล่าวว่า Kincentric Thailand Best Employers เป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับ และมีจัดประกวดทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้สะฮารา

“หัวใจหลักคือการขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจให้ก้าวหน้า และประสบผลสำเร็จ ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีของพนักงาน (Employee eXperience) เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรและพนักงานทุกคน ไม่เพียงเท่านั้น ความคล่องตัวในการปรับตัวอย่างรวดเร็วขององค์กร และแผนการบริหารจัดการบุคลากรก็เป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนั้น การนำพาองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤต และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันต่างขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มีต่อธุรกิจ องค์กร และการจัดการคนด้วยเช่นกัน”

“นภัส ศิริวรางกูร” พาร์ทเนอร์ คินเซนทริค (ประเทศไทย) แชร์ข้อมูลเชิงลึกจากผลสำรวจสุดยอดนายจ้างดีเด่นในปี 2565 ที่ผ่านมาว่าจากการเก็บข้อมูลกว่า 300 องค์กร พบว่าระดับความผูกพันขององค์กรทั่วไปในประเทศไทยอยู่ที่ 71% ขณะที่กลุ่มองค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นของประเทศไทยมีระดับความผูกพันอยู่ที่ 84% โดยหลายองค์กรมีประเด็นที่ควรมุ่งเน้นพัฒนาคล้ายกันคือการมีผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและให้ทิศทางที่ชัดเจนแก่พนักงาน

รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับพนักงานในแง่ของความต้องการพื้นฐาน ความมั่นคงในงาน และการพัฒนาทักษะเพื่อต่อยอดการทำงาน โดยปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการ 96 องค์กร และเราตั้งเป้าว่าจะมีองค์กรเข้าร่วมโครงการมากกว่า 100 บริษัทในปีนี้

“ปรียา สิงห์นฤหล้า” ผู้จัดการโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 อธิบายเพิ่มเติมถึงรายละเอียดว่าการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่น เป็นการสำรวจผ่านเครื่องมือและกระบวนการมาตรฐานในระดับโลก ผ่านการเก็บข้อมูลจาก 3 แหล่งข้อมูล คือ

หนึ่ง การสำรวจความคิดเห็นของพนักงานใน 4 มิติหลัก ได้แก่ ความผูกพันของพนักงาน, ความคล่องตัวขององค์กร, ผู้นำองค์กร และการบริหารทรัพยากรบุคคล

สอง การประเมินประสิทธิภาพของงานทรัพยากรบุคคลผ่านเครื่องมือ People Practices Index

สาม การสำรวจมุมมองของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรด้านกลยุทธ์องค์กร และแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ทั้งนี้ ในขั้นสุดท้ายจะมีการตรวจสอบความสอดคล้องของข้อมูลว่าจะสะท้อนถึงความเป็นจริงภายในองค์กรหรือไม่จากคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติ

“สำหรับปีนี้ ทางคินเซนทริคมีการมอบรางวัลใหม่คือ Engaging Leader ให้กับองค์กรที่มีผู้นำองค์กรที่โดดเด่น ผ่านการพิจารณาด้วย SPARK Model ที่เป็นเอกลักษณ์ของคินเซนทริค สำหรับองค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566”

“ศ.ดร.เอียน เฟนวิค” ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเทรนด์ธุรกิจที่สำคัญและน่าจับตามองในปี 2566 ว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทอย่างมาก จนทำให้เกิดการตอบสนอง เช่น ความหวาดกลัวจากความไม่เข้าใจ รวมไปถึงการมองว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราวด้วย

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ inspire-connect-transform ไปพร้อมกับเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังจะมาถึงคือ เรื่องสุขภาวะ, การยอมรับความหลากหลาย และประเด็นการประยุกต์ใช้โลกเสมือนจริง

“ภาณุวัฒน์” กล่าวว่า การสร้างประสบการณ์ที่ดีของพนักงานเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรในปัจจุบันควรให้ความสำคัญ เพื่อจูงใจให้พนักงานได้รับประสบการณ์ที่ดีและผูกพันกับองค์กร ซึ่งเป็นที่มาของ productivity ในการทำงาน และเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จให้กับองค์กร

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารควรทราบถึงปัญหาที่แท้จริง และผลลัพธ์ที่คาดหวังอย่างชัดเจน เพื่อนำมาออกแบบรูปแบบการบริหารจัดการให้ตรงความต้องการของพนักงาน ซึ่งเราสามารถจัดหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ไม่ยาก และข้อมูลบนคลาวด์ยังช่วยเพิ่มความสะดวกในการวิเคราะห์และการตัดสินใจ

“นาฑีรัตน์” กล่าวเสริมว่า ความท้าทายในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานคือการสามารถตอบโจทย์ในระดับปัจเจกบุคคลได้ตรงจุดขณะที่สภาพแวดล้อมของแต่ละคนต่างกัน และพนักงานก็ต้องการประสบการณ์ที่ดี และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน (flexperience) ไปพร้อมด้วย

ดังนั้น การบริหารองค์กรอย่างมืออาชีพจึงต้องมีเรื่องข้อมูลของพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์กรต้องรู้จักพนักงานอย่างลึกซึ้ง เพื่อออกแบบแรงจูงใจให้พนักงานรู้สึกประทับใจกับองค์กร และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร โดยอาศัยข้อมูลทางสถิติในการวิเคราะห์มากกว่าความรู้สึก

ขณะที่ “ธนยศ” กล่าวว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างมากในโลกธุรกิจปัจจุบัน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทั้งช่องทางขายผ่านโลกออนไลน์ และออฟไลน์ ที่สำคัญ งานด้านการบริหารงานบุคคล เทคโนโลยีสามารถช่วยลดงาน HR operation เพื่อให้มีเวลาไปทำงานเชิงกลยุทธ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการของคนมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน องค์กรจะออกแบบแรงจูงใจอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ การสื่อสารกันภายในองค์กรระหว่างผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้เป้าหมายขององค์กรและพนักงานสอดคล้องกัน

“บุญญนิตย์” กล่าวว่า กฟผ.ใช้ระบบการสื่อสารภายในเพื่อให้พนักงานในองค์กรระดับหมื่นคนเข้าใจถึงค่านิยมขององค์กร คุณค่าที่ต้องปฏิบัติร่วมกันในองค์กร เพื่อลดแรงเสียดทานที่อาจเกิดขึ้น และอธิบายถึงแรงจูงใจต่าง ๆ จนทำให้ปัญหาที่เคยมีมาลดน้อยลง

“ปัจจุบัน กฟผ.และพนักงานมีความเข้าใจกันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมนอกสถานที่เพื่อให้แต่ละฝ่ายทำความรู้จักกันมากขึ้น ทั้งนั้นเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน หรือทำให้สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น”

“ปิยบุตร” กล่าวว่า การทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรมีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งเรื่องของการทำกิจกรรม CSR ในทุกปี หรือพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนทุกข์และสุขร่วมกัน เพราะองค์กรยังให้ความสำคัญเรื่อง upskill และ reskill ให้กับพนักงานเพื่อเพิ่ม productivity นวัตกรรมในองค์กร นอกเหนือจากเรื่อง KPI อย่างเดียว ตรงนี้จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สำหรับ “ปอลิน” กล่าวเสริมในช่วงสุดท้ายว่า การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมืออาชีพ ผู้บริหารองค์กรจะต้องรู้เป้าหมาย สามารถเห็นภาพอนาคต และทิศทางที่จะก้าวไปขององค์กรอย่างชัดเจน ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับพนักงาน ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้บริหารที่ต้องมีพฤติกรรมทุ่มเทแรงใจในการทำงาน แต่องค์กรต้องส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าวให้มาถึงระดับพนักงาน และระดับหัวหน้างานด้วย

“โดยเฉพาะหัวหน้างานที่จำเป็นต้องสร้าง และพัฒนาหัวหน้าในระดับหน่วยงานย่อย เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งหรือผู้นำองค์กรในอนาคต”