เงินค้ำประกันการทำงาน คืออะไร ?

เงินค้ำประกันการทำงาน คืออะไร

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังมีคำถามทำนองนี้ คือ “ได้งานในบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นพนักงานต้อนรับลูกค้า ทางฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งนี้แจ้งว่า ต้องมีการวางเงินค้ำประกันการทำงาน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ และมีเงื่อนไขว่า

1. หากพนักงานจะลาออกต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบของบริษัทคือ 30 วัน

2. บริษัทจะคืนเงินค้ำประกันเมื่อพนักงานทำงานครบ 1 ปี

3. ถ้าหากพนักงานลาออกก่อนทำงานครบ 1 ปี หรือไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบ บริษัทก็จะไม่คืนเงินค้ำประกันให้”

เงินค้ำประกันนี้บริษัทจะหักจากเงินเดือน เดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจะครบ 10,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้บริษัทได้ทำเป็นสัญญาให้พนักงานเซ็นยินยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

คำถามคือ…บริษัททำแบบนี้ได้หรือไม่ ?

น่าแปลกใจนะครับว่า แม้ทุกวันนี้มีคำพูดหนึ่งที่ว่า “ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้” แต่ยังมีบริษัทที่ทำผิดกฎหมายโดยอ้างว่า “ไม่รู้” หรือ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กันอยู่ (ก็เลยไปไม่ถึงเมืองกาญจน์ซะที…เอ้อ…อันนี้เป็นมุขนะครับ 555)

ยิงมุขแล้วก็ขอตอบคำถามข้างต้นทั้งหมดได้อย่างนี้ครับ

1. ถ้าฝ่ายบุคคลของบริษัทนี้พูด และทำอย่างที่บอกมาข้างต้น ผมสันนิษฐานว่า บริษัทคงจะจ้างใครก็ไม่รู้เข้ามาทำงานธุรการบุคคลทั่วไป แบบรับคนเข้า-เอาคนออก-ตรวจบัตรตอก-ออกใบเตือนทั่วบริษัท ฯลฯ แล้วก็อุปโลกน์ตั้งชื่อตำแหน่งนี้ว่า “ผู้จัดการฝ่ายบุคคล”

หรือเพียงเอาไว้บอกคนทั่วไปว่า บริษัทก็มี HR กะเขาเหมือนกัน ซึ่งคนประเภทนี้แหละครับ ที่ทำให้คนอื่น ๆ ทั้งหลายมองคนที่ทำงาน HR ด้วยสายตาที่ดูถูกดูแคลน แถมเข้าใจงาน HR ว่าเป็นงานจับฉ่ายเบ็ดเตล็ด, ทำงานเอาใจฝ่ายบริหาร, ถามอะไรก็ไม่รู้สักอย่าง, งานแบบนี้เอาใครมาทำก็ได้ ฯลฯ

โธ่…ก็ในเมื่อคนพวกนี้ไม่ใช่ HR ตัวจริงนี่ครับ เพราะคนพวกนี้ไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำไปว่า งาน HR คืออะไร ? บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของ HR มีอะไรบ้าง ? รวมไปจนถึงความรู้เรื่องของกฎหมายแรงงาน ก็ไม่เคยเข้าไปอยู่ในซีรีบลัมคอร์เท็กซ์เลย

ดังนั้น คนพวกนี้จะคอยทำตามที่ฝ่ายบริหารสั่งมาเท่านั้นแหละครับ

2. ตามกฎหมายแรงงานมาตรา 10 บอกไว้ชัดอยู่แล้วว่า ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะ หรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้

ตรงนี้แปลว่าตำแหน่งงานที่ถามมาเป็นตำแหน่งพนักงานต้อนรับลูกค้า ซึ่งตามลักษณะงานไม่ได้ต้องมารับผิดชอบเรื่องเงิน หรือทรัพย์สินของบริษัทอะไรเลย อย่างนี้บริษัทจะมาเรียกเงินค้ำประกันไม่ได้ครับ

อย่าว่าแต่เรียกเก็บเงินค้ำประกันเลย แม้แต่บอกว่าจะไม่เรียกเงินค้ำประกัน แต่จะขอให้มีตัวบุคคลมาค้ำประกันก็ไม่ได้ด้วยนะครับ

จึงสรุปตรงนี้ว่า ในกรณีนี้บริษัทไม่สามารถเรียกเงินค้ำประกันการทำงาน หรือจะให้พนักงานหาคนมาค้ำประกันการทำงานก็ไม่ได้ ถ้าบริษัทยังฝืนทำอย่างนี้ก็เท่ากับบริษัททำผิดกฎหมายแรงงาน มาตรา 10 ครับ

3. ส่วนในเงื่อนไขที่ว่า เมื่อบริษัทรับเงินค้ำประกันการทำงานไปแล้ว ถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน หรือพนักงานลาออกก่อนทำงานครบ 1 ปี บริษัทจะไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงานให้ เพราะถือว่าพนักงานทำผิดสัญญา

ตรงนี้บริษัททำผิดกฎหมายแรงงานอีกนั่นแหละ เพราะในมาตรา 10 วรรคสอง ก็บอกไว้ชัดเจนแล้วว่า…เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้าง หรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

แม้จะมีสัญญาทำเอาไว้ ถือว่าสัญญานั้นขัดกฎหมายแรงงานในมาตรานี้ สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับไม่ได้ครับ เพราะการไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน หรือการลาออกก่อนทำงานครบ 1 ปี จะทำให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับเงิน หรือทรัพย์สินของนายจ้างได้ยังไงล่ะครับ

ดังนั้น เงื่อนไขที่จะไม่คืนเงินค้ำประกันแบบนี้ บอกได้เลยว่า บริษัท “มั่ว” หรือ “โมเม” ขึ้นมาเองแท้ ๆ เลยแหละ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลยครับ

เพราะอันที่จริงในกรณีนี้ บริษัทไม่มีสิทธิจะมาเรียกเงินค้ำประกันการทำงาน ตั้งแต่คำตอบในข้อ 2 ที่ผมบอกไปแล้ว ดังนั้นคำตอบในข้อ 3 ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะยิ่งแสดงเจตนาของบริษัทแห่งนี้ว่า ต้องการจะฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน มาตรา 10 แหง ๆ

สรุปทั้งหมดคือ ถ้าผู้ถามคำถามนี้ยังอยากจะทำงานกับบริษัทที่จงใจจะเอาเปรียบพนักงาน และจงใจทำผิดกฎหมายแรงงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานแบบนี้ ก็เอาตามที่สบายใจก็แล้วกันนะครับ

นี่ขนาดเริ่มต้นยังเอาเปรียบ และส่อเจตนาไม่ดีอย่างนี้แล้ว ขืนทำงานกันต่อไปจะไม่ถูกเอาเปรียบยิ่งกว่านี้หรือครับ

แต่ถ้าจะต้องการคำแนะนำจากผมอย่างตรงไปตรงมาก็คือ…”ไปหางานที่ใหม่ ที่เขาไม่เอาเปรียบจะดีกว่านะครับ”