กลยุทธ์ pep+ เกษตรกรพลังบวกเพื่อสิ่งแวดล้อม

pepsico

นับตั้งแต่บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เลย์” มันฝรั่งทอดกรอบอันดับหนึ่งของไทย และขนมขบเคี้ยวในเครือ “เป๊ปซี่โค” ประกาศกลยุทธ์ PepsiCo Positive (pep+) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา เพื่อต้องการผลักดันการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับสังคม

จึงทำให้กลยุทธ์ pep+ ถูกผนวกเข้ามาในทุกส่วนของธุรกิจ ยิ่งเฉพาะในรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (environmental, social and governance-ESG) ในปี 2564 กล่าวถึงรายละเอียดเรื่องความก้าวหน้า และแสดงตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงจาก 3 เสาหลักภายใต้กลยุทธ์ PepsiCo Positive (pep+) อันประกอบด้วย

หนึ่ง การเกษตรเชิงบวก (positive agriculture)

สอง ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (positive value chain)

สาม ทางเลือกเชิงบวก (positive choices)

คอลินส์ แมทธิว
คอลินส์ แมทธิว

โดยเรื่องนี้ “คอลินส์ แมทธิว” Supply Chain Senior Director บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทยเป็นบริษัทด้านการเกษตรที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ไร่มันฝรั่งในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จ เพราะการทำการเกษตรในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

“ผลตรงนี้ จึงทำให้เรามุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรกับเกษตรกรไทย เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตของฟาร์มเพิ่มขึ้น มีความยั่งยืน และเกษตรกร+ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น PepsiCo Positive (pep+) จึงเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทภูมิใจ ทั้งยังตั้งใจที่จะทำให้เกิดวัตถุประสงค์หลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการทำงาน”

สำหรับ การเกษตรเชิงบวก (positive agriculture) “คอลินส์ แมทธิว” อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเพราะเราพยายามเน้นย้ำ และส่งเสริมบทบาทของเกษตรกร โดยเฉพาะการไม่เผาทำลายตอซังหลังจากเก็บผลผลิต เพราะการเผาทำลายตอซังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เราจึงพยายามแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีฝังกลบ เพื่อสร้างสารอินทรียวัตถุกลับไปสู่พื้นดิน จนทำให้คุณภาพดินดีขึ้น และก็ดีกับสภาพแวดล้อมด้วย

“ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ลดต้นทุนการผลิต เพราะการฝังกลบทำให้เกิดการเติมสารอาหารเข้าไปในดินสำหรับการปลูกพืชครั้งต่อไป ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ผลผลิตดีขึ้น ยังช่วยลดการใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ย ทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น”

ส่วนเรื่อง ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (positive value chain) “คอลินส์ แมทธิว” อธิบายว่า เนื่องจากเรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป้าหมายต่าง ๆ อาทิ ในปี 2040 เราต้องการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้ทุก ๆ โรงงานมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหลังคา ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด

แม้แต่แหล่งที่มาของพลังงาน บริษัทจะลงทุนเพื่อให้เกิดพลังงานสะอาด ผลเช่นนี้ จึงทำให้เราจำเป็นต้องลงทุนในเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อใช้พลังงานน้อยลง และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ไม่เว้นแม้แต่บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเครื่องดื่ม เราพยายามรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือแม้แต่ถุงมันฝรั่งเลย์ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกอ่อนหลายชั้น (multilayered plastic-MLP) ที่ประกอบด้วยพลาสติกทั้งหมด 3 ชั้น เราก็พยายามร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่เขามีความรู้เรื่องนี้จัดทำโครงการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลับมาสู่เรา

ก่อนจะพัฒนาด้วยการแปรรูปบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นให้ออกมาเป็นโต๊ะนักเรียน เก้าอี้นักเรียน ซึ่งผ่านมาเราส่งมอบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงรายที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนของเกษตรกร”

ขณะที่ ทางเลือกเชิงบวก (positive choices) “คอลินส์ แมทธิว” บอกว่า เราใช้วิธีเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค คู่ค้า และชุมชนที่มีส่วนร่วม ต้องบอกว่าเราตั้งเป้าหมายค่อนข้างสูงมาก และเราภูมิใจที่จะผลักดันทุกอย่างให้อยู่ภายใต้การดำเนินการที่มีเป้าหมายอย่างแจ่มชัด

“พูดง่าย ๆ เราพยายามเสนอทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาอยู่ ยกตัวอย่าง เป๊ปซี่กระป๋องฟ้า เราพัฒนามาเป็นเป๊ปซี่แม็กซ์เพื่อลดน้ำตาล เพราะเราเชื่อว่าทางเลือกเชิงบวกจะเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคของเราต่อไปในอนาคต”

จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว
จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว

“จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า PepsiCo Positive (pep+) เป็นเป้าหมายระดับโกลบอล หมายถึงทุกประเทศที่เราทำธุรกิจจะมารวมตัวเลขกัน ยกตัวอย่างที่เราบอกว่าต้องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้านการเกษตรบนที่ดินอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมด 7 ล้านเอเคอร์ทั่วโลก ด้วยการจัดหาพืชผล และวัตถุดิบหลักอย่างยั่งยืน พร้อมกับปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรจำนวน 250,000 คนในห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรของบริษัท

“ด้วยการนำระบบเกษตรแบบฟื้นฟู (regenerative agriculture) และเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) เข้ามาช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาวะทางชีวภาพของดินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนศักยภาพให้กับเกษตรกร

นอกจากนั้น ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ การใช้ระบบน้ำหยด, การใช้โซลาร์เซลล์,การตรวจวิเคราะห์คุณภาพของดิน และการใช้โดรนในแปลงปลูกมันฝรั่ง จนทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น กระทั่งผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ตัน/ไร่ เป็น 4 ตัน/ไร่”

ที่สำคัญ เวลาพูดถึง Net Zero in Mission 2040 ก็จะมาดูว่าเมื่อปี 2015 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่จากระบบการผลิต และจากนี้ไปบริษัทกำลังเดินไปสู่เป้าหมายตรงนั้น โดยมาดูรายละเอียดในแต่ละตลาดอีกครั้งว่าตรงไหนทำได้มากกว่า หรือน้อยกว่า เพราะจาก ESG Report Global ที่เผยแพร่ออกมาในแต่ละสโคป 1-2 ที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปรากฏว่า สามารถลดไปได้ค่อนข้างเยอะ ยิ่งเฉพาะในปี 2021 มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 25% ดังนั้น เป้าหมายที่ใกล้กว่าปี 2040 คือปี 2030 เชื่อแน่ว่าบริษัทน่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างแน่นอน

“ดังนั้น สเต็ปต่อไปในสโคป 3 จึงเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ขนมันฝรั่งจากฟาร์มไปโรงงานตามที่ต่าง ๆ ตอนนี้บริษัทของเราในต่างประเทศร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับค่ายรถยนต์เทสลาเพื่อนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (electricvehicle) มาช่วยในการขนส่งวัตถุดิบ ต่อไปเราจะนำไปใช้ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

นอกจากนั้น เรายังมีความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) เพื่อช่วยเหลือ และอบรมเกษตรกรเพื่อให้ความรู้ทางการเกษตรในการลดการเผาตอซัง แต่หันมาใช้วิธีฝังกลบเพื่อสร้างสารอินทรีย์กลับไปสู่พื้นดินอีกครั้ง”

“จิระวัฒน์” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยปลูกมันฝรั่งอยู่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ และอีสาน ประกอบด้วย เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, ตาก รวมถึงสกลนคร และนครพนม โดยมีพื้นที่เกษตรรวมประมาณ 35,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการอยู่ประมาณ 4,000 ราย

“ตอนนี้เราใช้มันฝรั่งอยู่ประมาณ 1 แสนตัน/ปี คิดเป็น 70% ที่เราซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้ามันฝรั่งจากประเทศต่าง ๆ อีก 30% ผลตรงนี้ จึงทำให้ต้องมานั่งคิดต่อว่าถ้าขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้าจะต้องวางแผนบริหารจัดการอย่างไร เพราะทุกครั้งที่มีการขยายการลงทุน ก็ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้คือจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อทำให้เกิดการใช้พลังงานน้อยลง”

จรัญ ปลุกเสก
จรัญ ปลุกเสก

ถึงตรงนี้ “จรัญ ปลุกเสก” เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปลูกมันฝรั่งจากตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อก่อนผมปลูกกระเทียม, พริก รายได้ไม่ค่อยดี กระทั่งเจ้าหน้าที่ของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด มาแนะนำให้ปลูกมันฝรั่ง ผมเลยทดลองปลูก แรก ๆ ปลูกเพียง 4-5 ไร่ จนขยายมา 10 ไร่ บนพื้นที่ดินของตัวเองทั้งหมด และเมื่อเห็นรายได้ค่อนข้างดี ผมขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ด้วยการเช่าที่ดินของคนอื่น จนเป็น 30 ไร่ทั้งหมด

เมื่อก่อนผลผลิตประมาณ 4 ตันกว่า/ไร่ แต่ปีนี้เหลือเพียง 3 ตันกว่า/ไร่ เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน แต่การปลูกมันฝรั่งใช้ระยะเวลาสั้น (พ.ย.-ก.พ.) ก็เก็บผลผลิตได้แล้ว ส่วนเรื่องราคาก็กิโลกรัมละ 35 บาท ตันหนึ่งก็ตก 13,500 บาท/ไร่ จากนั้นผมก็ไถกลบ เตรียมดิน ยกร่อง เพื่อปลูกข้าวโพดหวาน เพียง 75 วัน ก็ได้เงินประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท/ไร่แล้ว ก่อนจะไถกลบ เตรียมดินเพื่อปลูกข้าวญี่ปุ่นต่อ (ก.ค.-ต.ค.) โชคดีที่ว่าข้าวญี่ปุ่นมีประกันราคาตกตันละ 13,000 บาท

“ตอนนี้ผมมีรถไถของตัวเอง และผมให้ลูกชายนำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาช่วยในแปลงเกษตร พร้อมกับติดตั้งระบบน้ำหยด โดยมีเจ้าหน้าที่ของ GIZ มาช่วยให้ความรู้ทางการเกษตร จนทำให้ครอบครัวของผมมีความสุขขึ้นมาก ผมภูมิใจมากที่เลย์เข้ามาเปลี่ยนชีวิต จนทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และผมภูมิใจยิ่งขึ้นเมื่อเห็นมันฝรั่งของเราเข้าไปอยู่ถุงเลย์ พร้อมกับส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก”


“ผมภูมิใจจริง”