เอสซีจี เชิดชูหญิงแกร่ง สานต่อต้นแบบโครงการพลังชุมชน

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน จนนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นับวันมีแนวโน้มสูงขึ้น เอสซีจีจึงเดินหน้าลดปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยยึดแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero 2050-Go Green-Lean เหลื่อมล้ำ-ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้ด้วยการอบรมให้ความรู้ ผ่านโครงการพลังชุมชนกับหลักสูตร Mini MBA สำหรับชุมชน

สำหรับโครงการพลังชุมชน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่เข้ามาเรียนหลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การบริหารจัดการด้านการค้าขาย เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม

“วีนัส อัศวสิทธิถาวร” ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้ทุกชุมชนทั่วไทย โดยมุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำสังคมด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง มีความรู้คู่คุณธรรมตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

วีนัส อัศวสิทธิถาวร
วีนัส อัศวสิทธิถาวร

“โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จากการทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งสร้างไปแล้ว 115,000 ฝาย ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำชุมชน จนทำให้ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้ และเพื่อการเกษตร ทั้งยังต่อยอดไปสู่โครงการพลังชุมชน อบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า

ปัจจุบันขยายผลไป 500 ชุมชน กว่า 200,000 คน ใน 37 จังหวัด จนมีรายได้มั่นคง อาชีพยั่งยืน และยังแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง”

“อำพร วงค์ษา” หรือ “ครูอ้อ” ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน หนึ่งในผู้ร่วมโครงการพลังชุมชน และถือเป็นบุคคลต้นแบบที่สามารถพลิกชีวิตจากที่เคยติดลบ กลายเป็นผู้นำครอบครัว และครูผู้สร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน

อำพร วงค์ษา
อำพร วงค์ษา

“ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ดิฉันเป็นครูสอนหนังสือมีรายได้ที่มั่นคง แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อแม่ล้มป่วย สามีที่กลับจากทำงานต่างประเทศความจำเสื่อมเพราะรับสารเคมีขณะทำงานมากเกินไป ดิฉันจึงต้องลาออกจากอาชีพที่รักเพื่อมาดูแลครอบครัว

วิกฤตครั้งนั้นถือเป็นมรสุมชีวิต ไม่มีมุมไหนของบ้านที่ดิฉันไม่ไปนั่งร้องไห้ จนมาถึงจุดหนึ่งดิฉันจึงลุกขึ้นมาเพื่อเป็นผู้นำครอบครัว ดูแลทุกคน และเลือกทำในสิ่งที่รักคือทำงานหัตถกรรม เช่น ถักผ้าม่าน ผ้าคลุมไหล่ ถักเสื้อ และนำไปเสนอขาย”

“จนกระทั่งได้ตลาด มีรายได้เข้ามา ก็หาคนมาช่วยทำ จากนั้นจึงพัฒนางานของตนเองเรื่อย ๆ พอธุรกิจแข็งแรงดิฉันจึงไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม จนได้เข้าอบรมโครงการพลังปัญญาของเอสซีจีในปี 2558 เพื่อนำความรู้มาพัฒนาต่อยอดธุรกิจเรา และก็ได้เข้าร่วมโครงการพลังชุมชน เรียนหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ชุมชน สร้างอาชีพยั่งยืน

ซึ่งโครงการนี้เป็นการขยายผลศาสตร์พระราชาเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่การสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง หยิบยกเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแปรรูป เพิ่มมูลค่า ต่อยอดทำแบรนด์ ขยายตลาด จึงเป็นที่มาที่ดิฉันได้นำเอาความชอบมาต่อยอดสู่ชุมชน”

“อำพร” กล่าวต่อว่า ดิฉันชวนชุมชนทำงานหัตถกรรม เย็บปักถักร้อย ถักเสื้อ ผ้าคุมไหล่ กระเป๋า ทำผ้าย้อมดิน ฯลฯ โดยมีกลุ่มเปราะบางเข้าร่วม ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ คนที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชให้มีรายได้เพิ่ม จุนเจือครอบครัว มีทักษะและสร้างรายได้ ก็มีคนสนใจเข้ามาเรียนกับดิฉันเยอะมาก จนก่อตั้งเป็นศูนย์ผาหนาม คนที่เรียนกับดิฉันส่วนหนึ่งกลายเป็นครูฝึกช่วยส่งต่อความรู้สู่ชุมชน

ปัจจุบันภายในศูนย์มีคนเข้าร่วมประมาณ 30 คน และดิฉันจะรับเพิ่มอีกเรื่อย ๆ คาดว่าปี 2566 จะเพิ่มอีก 30 คน เพราะกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่มีจำนวนมากกว่า 600 คน ถือเป็นจำนวนที่มาก และดิฉันก็จะทำอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญกับการนำเอาองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนนั้น

เราให้ชุมชนทำแบบสบาย ๆ หมายถึงว่าอยากทำตอนไหน เวลาไหนก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องทำให้ได้วันละกี่ชิ้น หรือถ้าจะถักทอเสื้อผ้า เราก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นรูปร่างแบบไหน สีอะไร เราปล่อยให้ชุมชนได้ทำตามความสามารถ ไม่มีกดดัน

“ดิฉันไม่อยากให้ชุมชนเกิดความเครียด อยากให้สบาย ๆ ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร แต่เราอยู่ในแบบที่เรามี แล้วเราจะมีความสุข เราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเติบโตร่วมกัน เราต้องการประคับประคองกัน ไม่อยากวัดกันที่เม็ดเงิน พอทำเสร็จก็เอาสินค้าไปขาย

ที่ผ่านมาโดนดูถูกเยอะมากว่าทำไปแล้วไม่รวย แต่เป็นสิ่งที่เรารัก และขายได้ แต่คนที่ดูถูกเขาไม่ได้เป็นคนทำ เขาจึงไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ถามว่าทำ แล้วพอกินไหม ก็ช่วยประคองให้เราอยู่ได้ พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้

จะเห็นว่าผลลัพธ์ความพยายาม ดิฉันสามารถมีศูนย์ฝึกอาชีพเครือข่ายของศูนย์ผาหนามถึง 3 ศูนย์ และพัฒนาครูฝึกที่เป็นกลุ่มเปราะบางได้ถึง 11 คน มีโอกาสได้สร้างอาชีพให้กลุ่มผู้เปราะบางด้วย แล้วก็มีรายได้เข้ามาในชุมชน 3-4 ล้านบาทต่อปี”

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเข้าร่วมโครงการพลังชุมชน สิ่งที่ดิฉันได้กลับมาคืออาจารย์สอนให้เรารู้จักในคุณค่าของตนเอง เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจว่าคุณค่าเราคืออะไร และเราก็ได้รู้ว่าคุณค่าในตัวเองมาจากสิ่งที่เรารักคือเป้าหมายของเราว่าจะค้นหาตนเองให้เจอ

เมื่อเราเห็นคุณค่าในตนเอง พอเรารู้จักคุณค่าในตนเอง เรารักในสิ่งที่เราทำ เรามีความสนุกกับตรงนี้ จึงพัฒนาต่อยอดได้เต็มที่ สร้างรายได้ แข็งแรงด้วยสิ่งที่มี เราก็สามารถช่วยเหลือและแบ่งปันคนอื่นได้ เพราะมีความพร้อมจะให้เขา


อันเป็นคำตอบของ “อำพร” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง