ลอรีอัลได้รับยกย่ององค์กรดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

ลอรีอัล ได้รับยกย่ององค์กรดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

ลอรีอัลได้รับยกย่องเป็นองค์กรดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมเดินหน้าสานต่อและเปิดตัวโครงการเพื่อความเท่าเทียมทั้งในส่วนองค์กร และแบรนด์ต่าง ๆ

วันที่ 31 มีนาคม 2566 ลอรีอัล ประเทศไทย รับรางวัลองค์กรดีเด่นจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2566 โดยได้รับการยกย่องในฐานะองค์กรดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งในแต่ละปีจะมีองค์กรเอกชนที่ได้รับรางวัลเพียงปีละหนึ่งองค์กรเท่านั้น

นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ลอรีอัลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพสตรี ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยยืนหยัดเคียงข้างผู้หญิงมานับตั้งแต่จุดเริ่มของบริษัท และไม่เคยหยุดพัฒนาโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตให้กับโลก

โครงการเพื่อผู้หญิงระดับโลกของลอรีอัล อาทิ โครงการทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) นั้น เริ่มและดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1998 และจวบจนถึงปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนนักวิจัยสตรีกว่า 4,100 คน ครอบคลุมกว่า 110 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ความมุ่งหมายของเราคือสร้างโลกที่มีความเท่าเทียม หลากหลาย และไม่กีดกันใคร โดยมอบพลังให้ผู้หญิงได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตของโลกนี้ ตามพันธกิจเพื่อความยั่งยืน L’Oréal for the Future

ในประเทศไทย นอกจากโครงการทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ที่ดำเนินงานมาเข้าปีที่ 21 และมอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยสตรีไปแล้ว 84 คน ยังมีโครงการต่าง ๆ โดยลอรีอัล ประเทศไทยและแบรนด์ความงามในเครือให้การสนับสนุนและสร้างพลังให้กับสตรีอีก อาทิ โครงการ Stand Up ลดภัยคุกคามบนท้องถนน โดยแบรนด์ลอรีอัล ปารีส (L’Oréal Paris) ที่มีเป้าหมายในการฝึกอบรมให้ผู้เข้าร่วมรู้จักเทคนิคป้องกันการคุกคาม เพื่อกล้าที่จะยืนหยัดและสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการคุกคามบนท้องถนน (Street Harassement) ให้ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถยอมรับได้ในที่สุด ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 36,500 คน

โครงการ Writer Her Future โดยแบรนด์ลังโคม (LANCÔME) มุ่งสานต่อปณิธานของแบรนด์ที่ต้องการช่วยให้ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสได้วาดอนาคตในแบบที่ตัวเองต้องการ ด้วยการอบรมทักษะด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาการตลาดผลิตภัณฑ์ที่สตรีเป็นเจ้าของ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมไปแล้วกว่า 150 คน

รวมไปถึงอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทยต่อไป จากแบรนด์ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty) อย่าง “Abuse is Not Love” ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ลอรีอัลยังมีโครงการเพื่อสังคมที่สนับสนุนผู้ขาดโอกาสในกลุ่มต่าง ๆ อาทิ โครงการฝึกทักษะอาชีพเสริมสวยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ Beauty For A Better Life ที่ช่วยสนับสนุนผู้ที่ต้องการโอกาสในการฝึกทักษะอาชีพเสริมสวย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับอาชีพช่างผม นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและสร้างอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการทั้งสิ้น 361 คน

โครงการ Solidarity Sourcing จัดจ้างผู้ขาดโอกาสทางสังคม ที่ทำงานกับซัพพลายเออร์ในการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือทำการจัดซื้อสินค้าและบริการของบริษัทกับบริษัทกลุ่ม SMEs บริษัทที่มีสตรี หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเจ้าของ

“เรามุ่งมั่นให้การสนับสนุนผู้หญิงด้วยการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ให้โอกาสทางการศึกษา การฝึกอบรม โอกาสในการสร้างอาชีพและทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีเพื่อสร้างโลกที่ไม่มีการกีดกันทางเพศ เป้าหมายของเราตามพันธกิจ L’Oréal for the Future คือการให้การสนับสนุนผู้หญิง 3 ล้านคนผ่านโครงการต่าง ๆ ของเราภายในปี 2030

และลอรีอัล ประเทศไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้เริ่มต้นและดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่นี้เช่นกัน”