ส่องตลาดงานครึ่งปีหลัง “งานขาย-บัญชี-โลจิสติกส์” มาแรง

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์แรงงานภาคอุตสาหกรรมของไทยในครึ่งปีแรก พบว่าภาพรวมของตลาดแรงงานยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะเน้นการทดแทนมากกว่าการขยาย อีกทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง จึงทำให้นักลงทุนอยู่ในช่วงของการรอดูทิศทาง การลงทุนต่าง ๆ ยังทรงตัว ไม่หวือหวามากนัก

ขณะที่นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า การดำเนินงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการสร้างฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อรับการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0

ทั้งยังมีการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 อีกด้วย

“สุธิดา กาญจนกันติกุล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย บอกว่า ผู้ประกอบการอีอีซีมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ ความสามารถที่หลากหลายขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนที่จะนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการควบคุมเครื่องจักร และหุ่นยนต์ ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และความสามารถทางภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อควบคุมดูแลการทำงานเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

“สำหรับแนวโน้มของตลาดแรงงานที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มอีอีซี โดยในช่วงเริ่มต้นที่มีการพัฒนาพื้นที่การก่อสร้าง แน่นอน อันดับที่ 1 จะเป็นสายงานในกลุ่มก่อสร้าง และพัฒนาสาธารณูปโภค ได้แก่ กลุ่มวิศวกร ทั้งวิศวอุตสาหการ, วิศวไฟฟ้า, วิศวอิเล็กทรอนิกส์ และแรงงานก่อสร้าง รวมถึงสายงานในสายไอที ส่วนอันดับ 2 ในการเตรียมความพร้อมของเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จะทำให้เกิดความต้องการของแรงงานในกลุ่มที่เป็นพนักงานฝ่ายผลิต, เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค รวมถึงกลุ่มงานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง สุดท้าย อันดับ 3 จะเป็นสายงานด้านการบริการ ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว สุขภาพและการศึกษา ซึ่งจะเกิดความต้องการสูงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองและพัฒนาคนให้มีคุณภาพ”

“อีกทั้งความต้องการแรงงานกลุ่มโรงงานในอีอีซีช่วงไตรมาส 3 ของปี ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งจากประเทศจีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มยุโรป ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเฉพาะระดับผู้บริหาร และกลุ่มแรงงานระดับวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้าง ส่วนในกลุ่มแรงงานฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จะมีการเคลื่อนย้ายช่วงไตรมาส 4 ของปี”

“จากการศึกษาและเก็บรวบรวมความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่างมีมุมมองและข้อเสนอแนะว่า ในภาพใหญ่ของประเทศควรมีการให้ความรู้ ความเข้าใจการศึกษาในสายอาชีพให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ปกครอง เพราะที่ผ่านมาค่านิยมของผู้ปกครองจะเน้นให้ลูกเรียนในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ซึ่งตรงนี้ไม่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ต้องการคนที่มีทักษะความรู้เฉพาะทาง และมีประสบการณ์ในการทำงานค่อนข้างสูง”

ทั้งนั้น หากวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงานของปี 2562 ในภาพรวม “สุธิดา” มองว่า ทิศทางของตลาดแรงงานจะยังคงมีความคล้ายคลึงกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่เทคโนโลยี และ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้หน่วยงาน องค์กร ต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อพลวัตที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

“ขณะที่ตลาดแรงงานช่วงครึ่งปีหลังถือว่ามีทิศทางที่ดี เนื่องจากปัจจัยบวก ทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมและลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมถึงเสถียรภาพด้านการเมือง ที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ทำให้มีกรอบนโยบาย และแนวทางการบริหารที่ชัดเจน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระดับสากล รวมถึงตลาดแรงงานในประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย”

“สำหรับตลาดแรงงานในครึ่งปีหลัง แนวโน้มความต้องการแรงงานสูงสุดยังคงเป็นงานด้านการขาย ทั้ง BA (beauty advisor) และ PC (product consultant) โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้ต้องกระตุ้นยอดขาย ด้วยการโปรโมตสินค้าผ่านพนักงานขาย ทำให้ความต้องการพนักงานเพื่อนำเสนอสินค้าในประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พนักงานกลุ่มนี้มีข้อพิจารณาทั้งเรื่องเงินเดือน ค่าคอมมิสชั่น รวมถึงค่าเดินทางที่ต้องหมุนเวียนไปหลาย ๆ สาขา จึงทำให้อัตรา turn over มีสูงเช่นเดียวกัน”

“ในลำดับถัดมาจะเป็นงานในส่วนการเงิน และบัญชี ที่มีความต้องการสูงในทุกระดับงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐ และเอกชน เพราะต้องการคนทำงานที่มีความรู้ด้านปฏิบัติการ มีความเข้าใจในธุรกิจที่ทำ สามารถวิเคราะห์ วางแผน และบริหารเงินลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ รวมถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้ง SAP, ERP (enterprise resource planning) หรือ tax specialist ที่มี certificate public acount (CPA) รับรอง องค์ความรู้เหล่านี้ถือว่าสอดคล้องกับบริบทของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป”

สุดท้ายจะเป็นงานด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมามีการเติบโตมากกว่า 30% ทั้งในส่วนของการให้บริการคลังสินค้า การขนส่ง บริการ และพนักงานส่วนประจำสำนักงาน ทำให้ปี 2562 งานกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีก เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้คนใช้บริการผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และงานในส่วนนี้มียังหลากหลายตำแหน่งงาน อาทิ ผู้บริหารด้านโลจิสติกส์, วิศวกร

โลจิสติกส์, เจ้าหน้าที่วางแผนขนส่งสินค้า, เจ้าหน้าที่จัดซื้อต่างประเทศ, พนักงานแพ็กสินค้า, พนักงานจัดส่งสินค้า, พนักงานยกของ, เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า และเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ทั้งยังมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการเปิดสอนหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ทำให้เห็นได้ว่าสถานการณ์และความพร้อมในส่วนของแรงงานเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ ทุกส่วนมีความสอดคล้องกันทั้งภาคตลาดงาน แรงงาน และการศึกษา อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย