ตลาดแรงงานอาเซียนสดใส การผลิต-สุขภาพ-ก่อสร้างบูม

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจเรื่องภาพรวมตลาดงาน ประจำปี 2560 (Job Market Outlook 2017) ซึ่งดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 3,000 องค์กร และผู้หางานอีกกว่า 8,000 คน จาก 6 ประเทศในอาเซียน ที่ประกอบด้วย เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และไทย

“นพวรรณ จุลกนิษฐ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้กำลังซื้อกลับมาสดใส ขณะที่ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอีกครั้ง จึงทำให้ตลาดการจ้างงานฟื้นตัว

ทั้งนี้ จากรายงานผลสำรวจภาพรวมตลาดงานประจำปี 2560 ระบุว่า แนวโน้มการจ้างงานของผู้ประกอบการทั้งภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ภาพรวมตลาดงานอีก 5 ประเทศในอาเซียน ผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มจ้างพนักงานเพิ่มเป็นอันดับที่ 3 รองจากฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ภาพรวมทุกประเทศพบว่า 50% ของผู้ประกอบการจะจ้างพนักงานใหม่มาแทนตำแหน่งงานที่ว่าง ส่วน 22% คาดว่ามีการขยายกิจการ และการจ้างงานเพิ่ม และมีเพียง 7% เท่านั้นที่จะไม่จ้างพนักงาน

นพวรรณ จุลกนิษฐ์

ในส่วนของผู้ประกอบการมองว่า ตลาดงานในกลุ่มธุรกิจการผลิต, ธุรกิจสุขภาพ, ธุรกิจการก่อสร้างมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ตลาดงานในกลุ่มธุรกิจบริการ และด้านการเงิน และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มจะแย่ลง แต่สำหรับฝั่งผู้หางานกลับมองว่าตลาดงานในกลุ่มธุรกิจบริการ และด้านการเงิน ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจการผลิต มีแนวโน้มแย่ลง

“ดังนั้น ภาพรวมตลาดงานทั้งอาเซียนในปีนี้ คาดว่าน่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนเป็นช่วงขาลง อันเป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีน ซึ่งผู้ประกอบการและผู้หางานต่างมองว่า ตลาดงานทั้งภูมิภาคในปีนี้มีแนวโน้มซบเซาเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยผู้ประกอบการให้คะแนนเพียง 3.16 ส่วนผู้หางานให้คะแนน 3.46 จากคะแนนเต็ม 7 ซึ่งมีเพียงฟิลิปปินส์ และเวียดนามเท่านั้นที่มองว่า ตลาดงานปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้น”

ส่วนภาพรวมตลาดแรงงานไทยในปี 2560 จากรายงานผลสำรวจพบว่า 43% ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมคาดว่า ธุรกิจจะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่ม ขณะที่ 39% คาดว่าจะมีการจ้างงานเพื่อทดแทนตำแหน่งงานเดิมที่ว่างลง หรือเฉพาะตำแหน่งงานที่จำเป็นเท่านั้น

“ความต้องการผู้หางานที่มีความสามารถยังมีต่อเนื่อง จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริการ และค้าปลีก ผู้ประกอบการคาดว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและธุรกิจการผลิตจะเติบโตดีกว่าปีก่อน โดยมีคะแนนเต็ม 7 ขณะที่ผู้หางานมองว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (3.86) ธุรกิจด้านโทรคมนาคม (3.83) และธุรกิจการผลิต (3.53) จะเติบโตน้อยกว่าปีก่อน”

ทั้งนี้ จากรายงานผลสำรวจยังระบุอีกว่า 39% ของผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ตลาดแรงงานในประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าปีก่อน สวนทางกับมุมมองของผู้หางานกว่า 50% ที่เชื่อว่า ตลาดงานจะซบเซากว่าปีที่ผ่านมา

โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้หางานมองภาพรวมตลาดงานในเชิงลบ เป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นมากระหว่างผู้หางานที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ประกอบกับความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ตรงใจผู้หางาน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน (6.20) ธุรกิจการผลิต (5.93) ธุรกิจโทรคมนาคม (5.67) ขณะที่ตำแหน่งงานที่ผู้หางานคาดว่ามีโอกาสค้นพบตำแหน่งงานที่ตรงใจ คือ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (3.63) ธุรกิจการผลิต (3.53) และธุรกิจโทรคมนาคม (3.50)

“นพวรรณ” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานผลสำรวจ ผู้หางานยังมองว่าจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ประกอบกับสัญญาณการเติบโตในเชิงบวกของธุรกิจสตาร์ตอัพจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ หรือรูปแบบการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น จะทำให้เกิดทักษะการทำงานใหม่ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเนื้องาน จนส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งยังต้องการแรงงาน ต้องการทักษะที่มีความแตกต่างกันมากขึ้นอีกด้วย

“กุญแจสำคัญในการดึงดูดคนคุณภาพให้เข้ามาร่วมงาน ภายใต้สภาวะที่ตลาดงานมีการแข่งขันสูง ปัจจัยสำคัญผู้ประกอบการควรใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช้เพื่อการสร้างแบรนด์องค์กร การทำการตลาด และติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเท่านั้น ช่องทางออนไลน์ยังกลายเป็นช่องทางหลักที่ใช้ในการสรรหาว่าจ้าง และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งปัจจุบันผู้หางานเลือกบริษัท มากกว่าบริษัทเลือกผู้หางาน”

ทั้งนี้ ในรายงานผลสำรวจยังระบุอีกว่า กว่า 52% ของผู้หางานเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้นหาตำแหน่งงาน ซึ่งความนิยมในการใช้ช่องทางออนไลน์หางานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน อีกทั้งผู้หางานใช้เว็บไซต์งานในการติดตาม และดูความเคลื่อนไหวตลาดงาน อยู่ที่ 5.53 คะแนน แต่มีการใช้เว็บไซต์สมัครงานใหม่อยู่ที่ 5.47 คะแนน

“ฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อดึงดูดผู้หางานคุณภาพ เช่น การเลือกใช้เว็บไซต์งานที่มีคุณภาพ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้หางานในการค้นหา และเข้าถึงตำแหน่งงานดี ๆ ตลอดเวลา ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานอีกด้วย”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี กว่า 1,500 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าการอัพเดตโปรไฟล์อย่างสม่ำเสมอของผู้หางาน ทำให้ 80% ของผู้หางานได้รับการติดต่อเสนองาน และ 74% ได้งานทำภายใน 1 เดือนหลังจากสมัครงาน

ถึงตรงนี้ “นพวรรณ” บอกว่า นอกจากการคำนึงถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากรในองค์กร สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อมา คือ การรักษาและพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้อยู่ในองค์กรต่อไป เพราะการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการควรลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนงานที่ช่วยเพิ่มคุณภาพ ทักษะของพนักงาน เพิ่มโอกาสและรายได้ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น และพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมไปถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน

“ในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2560 ที่ผ่านมา ตำแหน่งงานที่มีผู้สมัครงานผ่านเว็บไซต์ จ๊อบส์ ดีบี มากที่สุด คือ การขาย, การตลาด และ พี.อาร์, วิศวกร, แอดมิน และเอชอาร์ สุดท้ายงานด้านไอที ส่วนตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการต้องการในช่วงไตรมาสสุดท้าย และคาดว่าน่าจะต้องการจนถึงปีหน้า คือ การขาย, วิศวกร, ไอที, บัญชี และงานแอดมิน และการตลาด”

“ดังนั้น ความท้าทายของตลาดงานหลังจากนี้ ขณะที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยขณะนี้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวเพื่อรับกับนโยบายแล้ว แต่เรามองว่าการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนกำลังจะไม่สามารถทำได้ 100% เพราะคนยังมีเรื่องของ Human Touch อยู่ อีกทั้งในบางอาชีพก็ใช้ AI ทดแทนไม่ได้ ผู้หางานจึงจำต้องเพิ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับงาน ทั้งความกว้าง และความลึกไปพร้อมกันอีกด้วย”

ถึงจะทำให้เราเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด