เปิดอัตราเงินเดือน-โบนัสปี’65 บริษัทยานยนต์ ทุ่มไม่อั้น

แนวโน้มบริษัทยานยนต์ขยับขึ้นเงินเดือนน้อย เพราะกลัวกระทบต้นทุน แต่โบนัสจ่ายครั้งเดียว ทุ่มไม่อั้น

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภกร เผ่าดี ประธานที่ปรึกษา ชมรมผู้บริหารบุคคล ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (MAC) เปิดเผยผลสำรวจการขึ้นเงินเดือน และโบนัสประจำปี 2564-2565 จากการสำรวจบรรดาสมาชิกธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 173 บริษัท ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.-5 ก.ย. 2564

พบว่า บริษัทส่วนใหญ่วางแผนที่จะขึ้นเงินเดือนปีหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 6.5% ต่ำสุด 1% ค่าเฉลี่ย 3.66%

ในส่วนของการจ่ายโบนัสประจำปี 2564-2565 พบว่า การจ่ายโบนัสเฉลี่ยสูงสุด 7.3 เดือน ต่ำสุด 0.85 เดือน ค่าเฉลี่ย 4.21 เดือน

อัตราการขึ้นเงินเดือน แยกตามขนาดกิจการ

  • บริษัทขนาด 50-300 คน ปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 6% ต่ำสุด 1% ค่าเฉลี่ย 3.41%
  • บริษัทขนาด 300-1,000 คน ปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 6% ต่ำสุด 2% ค่าเฉลี่ย 3.7%
  • บริษัทขนาด 1,000-3,000 คน ปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 6.5% ต่ำสุด 1% ค่าเฉลี่ย 3.75%
  • บริษัทขนาดพนักงาน 3,000 คนขึ้นไป ปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 4.3% ต่ำสุด 2% ค่าเฉลี่ย 3.81%

อัตราการการจ่ายโบนัส แยกตามขนาดกิจการ

  • บริษัทขนาด 50-300 คน จ่ายโบนัสเฉลี่ยสูงสุด 5.5 เดือน ต่ำสุด 0.85 เดือน ค่าเฉลี่ย 3.2 เดือน
  • บริษัทขนาด 300-1,000 คน จ่ายโบนัสเฉลี่ยสูงสุด 6 เดือน ต่ำสุด 1 เดือน ค่าเฉลี่ย 3.83 เดือน
  • บริษัทขนาด 1,000-3,000 คน จ่ายโบนัสเฉลี่ยสูงสุด 7.3 เดือน ต่ำสุด 1 เดือน ค่าเฉลี่ย 4.29 เดือน
  • บริษัทขนาด 3,000 คนขึ้นไป จ่ายโบนัสเฉลี่ยสูงสุด 6.9 เดือน ต่ำสุด 2.6 เดือน ค่าเฉลี่ย 5.52 เดือน

นอกจากเงินเดือนโบนัสแล้ว ในด้านสวัสดิการ มีดังนี้

  • 82% เน้นไปที่การจัดการป้องกันโควิด-19 ให้พนักงาน เช่น การเยียวยาผู้ที่ติดเชื้อถูกกักตัว 14 วัน
  • 34% การช่วยเหลือพนักงานเมื่อเกิดโรคระบาด
  • 31% ความมั่นคงของชีวิตระหว่างการทำงานและหลังเกษียณ

“การขึ้นเงินเดือนในกลุ่มยานยนต์ จะเห็นแนวโน้มว่าขึ้นน้อย เพราะบริษัทกลัวกระทบกับต้นทุน แต่โบนัสปีหนึ่งจ่ายครั้งเดียวจึงทุ่มไม่อั้น ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เริ่มยื่นข้อเรียกร้องแปลก ๆ เช่น ขอปรับอายุให้เข้าเกณฑ์เกษียณอายุก่อนกำหนด (early retire) จาก 45 ปี เป็น 40 ปี

สะท้อนให้เห็นสัญญาณว่า เริ่มมีแรงงานในกลุ่มที่ต้องการความมั่นคง และกลุ่มที่ปลอดภาระ อยากได้เงินก้อนเอาไปลงทุนหรือเอาไปเก็บออมใช้จ่ายหลังเกษียณ ขณะที่ข้อเรียกร้องอื่น ๆ เป็นเรื่องของสวัสดิการทั่วไป 28% สิทธิการลาและอยากให้ชั่วโมงการทำงานลดลง 7%” นายศุภกรกล่าว