บริษัทใหญ่ระดมจ่ายโบนัส ‘โตโยต้า’ นำโด่ง 6.9 เดือน

ค่ายรถแจกโบนัสพนักงาน
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Toyota Motor Thailand

ข่าวดียุคโควิด บิ๊กแบรนด์อุตสาหกรรมแจกโบนัส สร้างแรงจูงใจให้องค์กรไปต่อ “โตโยต้า” จ่าย 6.9 เดือน ตามด้วย “ฮอนด้า-อีซูซุ-ซูซูกิ-ฟอร์ด-มิตซูฯ” ยักษ์สื่อสาร AIS ให้ตามผลงาน 0-5 เดือน ปตท. 5 เดือน บี.กริม 4 เดือน CPF จ่าย 2 เดือนทุกปี TU 1-3 เดือน “ทิพยประกัน” 6.5 เดือน เคแบงก์ 2.25 เดือน “ทางด่วน” 5 เดือน ทอท.ตกสวรรค์ งดจ่ายอีกปี

จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะงักงัน อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและบริการต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างยานยนต์ รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ทยอยประกาศปิดโรงงาน และเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก

ในภาพรวมมุมกลับกัน มีบางอุตสาหกรรมที่ยังโดดเด่น และอีกหลายบริษัทได้ดำเนินนโยบายประคองตัวด้วยการปรับลดต้นทุนทุกทางเพื่อการอยู่รอดขององค์กร ทั้งลดเงินเดือน ลดรายจ่าย ภายใต้ “แผนตั้งรับ” ที่ดี ทำให้มีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มจะจ่ายโบนัสให้กับพนักงานตามความเหมาะสม

ค่ายรถใจป้ำสุด

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจอัตราค่าตอบแทนของแต่ละภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะจ่ายโบนัสเป็นแรงจูงใจ ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่ยังปรากฏอยู่ โดยคาดหวังว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 และนโยบายเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในราวไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

จากข้อมูลล่าสุดพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้โบนัสสูง ยังคงเป็น “กลุ่มธุรกิจยานยนต์” เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ รวมถึงธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจอาหารแช่แข็ง พลังงาน เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ตัวเลขการขายรถทั้งปีเหลือแค่ 792,146 คัน ลดลงจากปี 2562 ถึง 21.4% แต่เกือบทุกบริษัทก็ยังใจป้ำจ่ายโบนัสให้กับพนักงานมาก จนธุรกิจอื่น ๆ อิจฉา

โตโยต้าได้ 6.9 เดือน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในกลุ่มท็อปทรี ทั้งโตโยต้า อีซูซุ และฮอนด้า ขณะนี้ได้พิจารณาและเริ่มทยอยจ่ายเงินโบนัส เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานกันแล้ว โดยพิจารณาจ่ายในระดับที่น่าพึงพอใจ เริ่มจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประกาศให้โบนัสในปี 2563 สูงถึง 6.9 เดือน พร้อมเงินพิเศษอีก 30,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด

ส่วนบริษัท ฮอนด้าออโต โมบิล (ประเทศไทย) ปีที่แล้วจ่ายราว 7 เดือนและบวกเพิ่มเงินพิเศษ 45,000 บาทและมีแนวโน้มว่าจะจ่ายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่รถจักรยานยนต์ฮอนด้าภายใต้บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด คาดว่าจะจ่ายโบนัสอัตราใกล้เคียงกับค่ายยามาฮ่า ที่จ่าย 5-5.5 เดือน พร้อมเงินพิเศษอีก 10,000 บาท

ส่วนซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จ่ายโบนัสให้กับพนักงานไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในอัตรา 4 เดือน

มิตซูฯขึ้นเงินเดือน 3%

ขณะที่บางบริษัทซึ่งมีปีงบประมาณจบที่เดือนมีนาคม อยู่ระหว่างพิจารณาจ่ายโบนัส อาทิ นิสสัน คาดว่าจะพิจารณาจ่าย 3 เดือน และเพิ่มเติมจากประสิทธิภาพการทำงาน, มิตซูบิชิคลอดแล้ว โดยจะจ่าย 6 เดือน บวก 15,000 บาท พร้อมกับขึ้นเงินเดือน 3% ไม่ต่างจากค่ายฟอร์ด, มาสด้า ซึ่งทุกรายส่วนใหญ่จะตัดสินใจเดินตามบิ๊กแบรนด์

ฟอร์ดจ่าย 6 เท่า-ชิ้นส่วนรอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (FTM) ประกาศจ่ายโบนัสไปตั้งแต่ปลายปี 2563 ในอัตรากว่า 6 เท่าของเงินเดือนแบ่งจ่ายเดือน ธ.ค. 2563 จ่าย 1 เท่า ที่เหลืออีกกว่า 5 เท่าของเงินเดือน จ่ายในเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ บริษัทมีนโยบายให้หยุดยาว 19 วัน ขณะที่บริษัทยังมีการทำงานล่วงเวลา (OT) เนื่องจากมีออร์เดอร์จากประเทศออสเตรเลียเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มมีการเจรจากับทางสหภาพแรงงาน อาทิ ฮิตาชิ เมทัลส์ โบนัส 5.6 เดือน เงินพิเศษ 25,000 บาท, ซูมิโตโม จ่าย 4.6 เดือน บวกเงินพิเศษ 20,000 บาท

เอไอเอส ให้ตามผลงาน

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า นโยบายในการแจกโบนัสให้พนักงานจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี โดยเกณฑ์การพิจารณาจะใช้ความสามารถและผลงานเป็นตัวชี้วัด ทำให้พนักงานแต่ละคนได้รับเงินโบนัสในจำนวนที่ต่างกัน ซึ่งจะจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

โบนัสครั้งล่าสุดที่จ่ายไปเมื่อเดือน ก.พ. 2564 จะอยู่ในเรต 0-5 เดือน นอกเหนือจากโบนัสแล้ว บริษัทยังมีสวัสดิการเพิ่มเติม รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาศักยภาพด้วยตนเอง ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “AIS Academy” เปิดโอกาสให้พนักงานกำหนดแนวทางการประกอบอาชีพของตนเองในอนาคต และสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ได้

พลังงาน-อาหาร รับทุกปี

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมพลังงานเช่น บมจ.ปตท. จ่ายโบนัส 5 เดือน กลุ่ม บี.กริม ประมาณ 4 เดือนบวกลบตามเพอร์ฟอร์แมนซ์ ส่วนธุรกิจอาหารเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ฟิกซ์เรตที่ 2 เดือนทุกปี ไม่ว่าผลประกอบการจะเป็นอย่างไร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งปีนี้ผลประกอบการดี จากความต้องการบริโภคอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นได้มีการจ่ายโบนัส 2 งวด ประมาณธันวาคมและมีนาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 1-3 เดือน แต่บวกลบตามเพอร์ฟอร์แมนซ์

และมีหลายบริษัทยืนยันว่ามีโบนัสแน่นอน แต่ไม่ระบุจำนวนเดือน คือ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและโรงกลั่นชะลอตัวลง และกลุ่มศรีตรัง (ทั้งศรีตรังแอโกร อินดัสทรี และศรีตรัง โกลฟส์) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งในปี 2563 จากยอดขายถุงมือยางที่เพิ่มพรวด รวมถึงทิศทางราคายางปรับตัวดีขึ้น ส่วนค่ายใหญ่พลังงานอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ คาดว่าจะประชุมเรื่องผลตอบแทนในสัปดาห์หน้า

ทิพยประกันฯ 6.5 เดือน

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทิพยประกันภัยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้มีมติให้จ่ายโบนัสพนักงานสำหรับผลประกอบการปี 2563 จำนวน 6.5 เดือน โดยเป็นการแบ่งจ่าย 2 รอบ (ช่วงปลายปีและต้นปี)

ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจ่ายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ บอร์ดยังอนุมัติเพิ่มฐานเงินเดือนเฉลี่ยราว 7% ของทั้งบริษัท โดยให้แต่ละฝ่ายไปพิจารณาศักยภาพของพนักงานแต่ละราย

“ปกติแล้วทิพยประกันภัยจะจ่ายโบนัสพนักงานในอัตราเฉลี่ยประมาณ 5-6 เดือนอยู่แล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นการจ่ายโบนัสที่สูงกว่าบริษัทประกันรายอื่น ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัททิพยประกันภัยมีผลประกอบการที่ดีจากขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งมีลูกค้าซื้อประกันกว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,400 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ.วิริยะประกันภัย จ่ายโบนัสจากผลดำเนินงานปี 2563 จำนวน 3.5 เท่าของเงินเดือน โดยจ่ายรอบเดียวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนปี 2564 จะมีนโยบายการจ่ายโบนัสใหม่ แบ่งจ่าย 2 รอบ คือ แบ่งเป็น 60% จ่ายตามผลดำเนินงานของบริษัท และ 40% ที่จะจ่ายตามผลงานของแต่ละแผนก

เคแบงก์เฉลี่ย 2.25 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยการจ่ายโบนัสประจำปีจะคำนวณตามผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งปีนี้ค่ากลางอยู่ที่ 2.25 เดือน ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยพนักงานราว 2 ใน 3 จะได้มากกว่า 2.25 เดือน และพนักงาน 1 ใน 3 จะได้น้อยกว่า 2.25 เดือน

ทอท.ตกสวรรค์ในรอบ 41 ปี

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า ปีนี้จะไม่มีการจ่ายโบนัส เพราะผลดำเนินงานขาดทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปีที่ก่อตั้งบริษัท ปีที่แล้วก็ไม่ได้จ่ายเช่นกัน เพราะกำไรลดลง จากปกติปี 2562 ทอท.จ่ายอยู่ที่ 7.25 เท่าของเงินเดือน

“หลังเกิดการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ตลอดปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ทอท.ทั้งระบบ ซึ่งปีที่แล้วได้งดจ่ายแล้วด้วยเหตุผลกำไรลดลง แต่ปีนี้ถึงขั้นขาดทุนก็ประกาศงดจ่ายเช่นกัน”

ทางด่วนแจก 5 เดือน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ผลดำเนินงานปี 2563 มีกำไร 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้มีนโยบายจะจ่ายโบนัสให้ตามปกติ แต่จะลดลงคือจ่ายให้ 5 เดือน จากปีก่อนจ่ายอยู่ที่ 5.5 เดือน

ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ กทพ.พิจารณา