ก.แรงงานรวมหลักฐานจับนายหน้าเถื่อน หลอกคนไทยทำงานบ่อนกัมพูชา

ภาพบ่อนในกัมพูชา (ไม่เกี่ยวกับเนื้อข่าว) REUTERS-Samrang Pring

กระทรวงแรงงานสั่งขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกคนไทยทำงานบ่อนปอยเปต ประเทศกัมพูชา โทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พบสาย หรือนายหน้าเถื่อนหลอกคนไทยทำงานบ่อนปอยเปต ประเทศกัมพูชาจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลจากคนหางานไทยที่ถูกหลอกลวงและได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศ พบว่าสาย/นายหน้าเถื่อนจะชักชวนไปทำงานในบ่อนการพนัน หรือทำงานในเว็บพนันออนไลน์ โดยอ้างว่ามีรายได้ดี แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับให้ทำงานไม่ตรงตามข้อตกลง ถูกกักขัง และบังคับให้ทำงาน ซึ่งหากไม่ยอมทำงานหรือไม่สามารถทำงานได้จะถูกทำร้ายร่างกาย

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้กระทรวงแรงงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสาย/นายหน้าเถื่อนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งผมได้สั่งการกรมการจัดหางานให้ขยายผลข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจากคนหางานชาวไทยที่ถูกหลอกทำงานกัมพูชา เพื่อดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าเถื่อน หากพบว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศใดหากไม่อยากเป็นเหยื่อ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาชักชวนทางสื่อออนไลน์ หรือสาย/นายหน้าเถื่อนโดยง่าย ให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนว่ามีงานจริงหรือไม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้คนหางานพิจารณาให้ดี เพราะทันทีที่ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีลักลอบเป็นแรงงานผิดกฎหมายจะมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเสี่ยงโดนนายหน้าหลอกไปลอยแพ เสี่ยงโดนล่อลวงไปเป็นแรงงานทาส/ค้ามนุษย์ และตกเป็นเป้าของอาชญากรรมอื่น ๆ ได้ง่าย

เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ หรือกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ยังต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่ได้รับสวัสดิการและการรักษาพยาบาลที่ควรได้รับ รวมถึงเสี่ยงโดนคนไทยด้วยกันที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายอยู่ก่อนแล้วหลอกลวงด้วย

“สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ทราบว่า การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จะมีความผิด ดังนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 25 พฤศจิกายน 2564) มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 4 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 467,000 บาท”

นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากคนหางานต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 124 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 85 บริษัท และอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ 39 บริษัท

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694