ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ความยั่งยืนในบริบทของเซ็นทรัล

พิชัย จิราธิวัฒน์

ที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบริษัทดำเนินธุรกิจในเชิงคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และสร้างคุณค่าร่วม (creating shared value-CSV) เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งด้านคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ด้วยความเชื่อที่ว่าการสร้างสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ควรมาจากความร่วมมือจากภายในองค์กร พนักงาน ผู้บริหาร จนนำมาสู่ภายนอกองค์กรทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายบนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า “ความยั่งยืน” จึงเกิดเป็นโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อสังคมหลักของกลุ่มเซ็นทรัลในการขับเคลื่อนหลาย ๆ กิจกรรมอันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ (sustainable development goals-SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)

สำหรับปี 2565 “Central Tham” เปิดตัวแท็กไลน์ “ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” ซึ่งเป็นชุดคำหรือประโยคที่คิดขึ้นมาเพื่อบ่งบอกสิ่งที่แบรนด์หรือธุรกิจกำลังทำอยู่ พร้อมปรับเพิ่มกลยุทธ์การสื่อสารผ่านภาพยนตร์โฆษณา “วงจรชีวิตของการทำ” เพื่อตอกย้ำพลังของการร่วมมือกันทำ และการเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่เกิดจากการตั้งใจทำ พร้อมทั้งเปิดรายงานผลสรุปโครงการต่าง ๆ ของปีที่ผ่านมา

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ตลอด 75 ปีที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลตั้งใจทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวิวัฒนาการทำให้ตอบโจทย์และสอดรับกับความต้องการของสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยโครงการ “Central Tham” มี 6 แนวทางในการขับเคลื่อน ดังนี้

หนึ่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย : ด้วยการยกระดับชุมชนผ่านการพัฒนาสินค้าชุมชน, การออกแบบบรรจุภัณฑ์, การเปิดช่องทางการสื่อสาร ขนส่ง และจัดจำหน่าย, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ

สอง ลดความเหลื่อมล้ำ : สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม การดำเนินงานด้านการศึกษา พัฒนาทักษะความรู้ เติมเต็มโอกาสในการทำงาน ส่งเสริมด้านการกีฬา และสุขอนามัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน คนพิการ และกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม

สาม พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ : ส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการปฏิบัติงานบนฐานความรู้ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพ ขีดความสามารถในการทำงาน และการแข่งขัน

สี่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย : ดำเนินธุรกิจบนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสำนึกความรับผิดชอบ ส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณขยะมูลฝอย และการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และให้ทุกคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ห้า ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต และลดปริมาณขยะอาหาร : การจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการใช้วัตถุดิบ การจัดการอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย การแปรรูปอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาสร้างประโยชน์หมุนเวียนต่อไป

หก ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลพิษ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และให้บริการแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและพื้นที่โดยรอบศูนย์การค้า รวมถึงการปลูกป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“พิชัย” กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “Central Tham” ลงมือทำมามากกว่า 100 โครงการ ในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2564 เราพัฒนาชุมชนไปแล้ว 44 จังหวัดทั่วไทย สร้างรายได้ของชุมชนต่อปีมากกว่า 1,500 ล้านบาท พัฒนาคุณภาพชีวิตกว่า 500,000 คน สนับสนุนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน

พร้อมกับฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวกว่า 2,000 ไร่ ลดปริมาณขยะอาหารมากกว่า 1,600 ตัน โดยตัวอย่างโครงการเด่น ๆ ได้แก่ โครงการพื้นที่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนแม่ทา, โครงการจริงใจ Farmers’ Market, โครงการตะกร้าสานคนพิการ, โครงการเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือนด้วยการเลี้ยงไก่ไข่, โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี, โครงการ Journey to Zero-สมุยโมเดล เป็นต้น

สำหรับโครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา เป็นโครงการต้นแบบบนที่ 9 ไร่ ที่สมาชิกคนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดย Central Tham สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอาคารอบรม และห้องคัดแยกเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ และสนับสนุนการปรับปรุงอาคารคัดบรรจุผัก และติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้กับสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา

รวมถึงมีร้านเบเกอรี่ที่ใช้วัตถุดิบจากในชุมชนเพื่อให้ทุกคนเห็นประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้จะเป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างคนเมืองและคนท้องถิ่นในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ทั้งพื้นที่ทำกิน วัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญของคนในชุมชนเอง

นอกจากนั้น ยังมีการรวมกลุ่มแม่ทาออร์แกนิคของเกษตรกรรุ่นใหม่ประมาณ 20 ราย ทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายสมาชิกเพิ่มเติมประมาณ 10% ต่อปี เพื่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์สำหรับผลิตแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนให้คืนกลับสู่สังคม โดยเน้นพืชผักพื้นเมืองและผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อส่งขายที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดจริงใจมาร์เก็ต จ.เชียงใหม่

ที่สำคัญยังเป็นการนำเสนอความสำเร็จของโครงการ Central Tham ด้วยการสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยกลุ่มเซ็นทรัลจะใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านภาพยนตร์โฆษณา ที่ได้ผู้กำกับมากฝีมืออย่างณฐพล บุญประกอบ มาร่วมตีโจทย์ออกมาจนกลายเป็นภาพยนตร์โฆษณาชื่อ “วงจรชีวิตของการทำ” ที่ออกอากาศไปเมื่อ 17 มีนาคม 2565

“ณฐพล บุญประกอบ” ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีและผู้เขียนบทภาพยนตร์ กล่าวถึงแนวคิดในการจัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ว่า เรามีแกนกลางอยู่ที่คำว่า “ทำ” โดยเริ่มต้นจากการลงมือทำแบบตามสะดวก ไม่จริงจัง จนค่อย ๆ ไต่ระดับไปสู่การลงมือทำ ร่วมมือกันทำ ตั้งใจ และทดลองทำในสิ่งที่เชื่อมั่น

“ปลายทางของหนังไม่ได้จบลงที่ผลิตภัณฑ์ชิ้นไหน แต่เป็นการเล่าเรื่องจากการลงมือทำในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสะท้อนชีวิตของการทำจากภาพบุคคลไปสู่ภาพกว้างในสังคม โดยเป็นการบอกผ่านความหลากหลายของอาชีพและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ Central Tham เข้าไปมีส่วนร่วมจนนำไปสู่การลงมือทำที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนดูภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้ทุกคนและทุกภาคส่วนเริ่มต้นลงมือทำ”

“สำหรับบุคคลทุกท่านที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ครู นักเรียน เกษตรกร คนพิการ ชุมชนต่าง ๆ มิใช่นักแสดงอาชีพ หากล้วนเป็นบุคคลและชุมชนที่ร่วมลงมือทำกับ Central Tham อย่างแท้จริง จึงทำให้ภาพโดยรวมออกมาสมจริง”

“สราวุธ วงค์กาวิน” เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ชุมชนแม่ทาออร์แกนิค จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า เราได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก Central Tham จนประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มเซ็นทรัลนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ เข้ามาส่งเสริมการทำงานในพื้นที่แม่ทามาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ควรส่งเสริมต่อยอด และส่วนที่ชุมชนต้องได้รับการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีการปรึกษาการทำงานร่วมกันกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืนอย่างครบวงจร เช่น การส่งเสริมการผลิตแบบสมาร์ทฟาร์ม, การบรรจุภัณฑ์ผลผลิต, อาคารคัดแยก-บรรจุที่ได้มาตรฐาน, รถห้องเย็นสำหรับลำเลียงพืชผักเพื่อคงความสดใหม่ รวมทั้งท็อปส์ยังรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายและช่วยประชาสัมพันธ์ผลผลิตของแม่ทาให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอีกด้วย

จนทำให้โครงการประสบความสำเร็จในที่สุด