
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 วันที่ 30 มี.ค.-9 เม.ย. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พิเศษ 3 วันแรก เปิดให้นักอ่านช็อปหนังสือถึงเที่ยงคืน
วันที่ 24 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 สนับสนุนโดย BOOK☆WALKER จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Bookfluencer : ผู้นำอ่าน
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต อายุ 55 ปี หลังซ้อมแข่งรถที่บุรีรัมย์
ยุคนี้เป็นยุคทองของอินฟลูเอนเซอร์ หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจ สามารถสร้างแรงดึงดูดหรือเปลี่ยนมุมมองความคิดให้กับผู้อื่น ในเรื่องของการอ่านก็เช่นเดียวกัน สมาคมมีความเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นผู้นำในการอ่านได้ เพียงแนะนำหนังสือที่ชื่นชอบหรือส่งต่อให้ผู้คนในสังคมได้อ่านตาม
และคาดหวังให้ประเทศไทยได้ใช้การอ่านเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืนดังเช่นในประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่รัฐบาลส่งเสริมการอ่านให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม มีนโยบายส่งเสริมนักเขียนในประเทศอย่างจริงจัง
อีกทั้งยังใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 นี้ มีจำนวน 905 บูท 333 สำนักพิมพ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันที่ 30 มีนาคม เวลา 15.00 น.
จากนั้นจะเริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานตั้งแต่เวลา 17.00 น. โดยปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ 3 วันแรก (30 มีนาคม-1 เมษายน) เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน ส่วนวันที่ 2-9 เมษายน เปิดให้บริการ 10.00-21.00 น.
ภายในงานได้แบ่งโซนจำหน่ายหนังสือทั้งหมด 7 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเก่า, หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland), หนังสือนิยายและวรรณกรรม, หนังสือนิยายวาย (Wonder Y) และหนังสือทั่วไป
ด้าน นายพสุ อุณหะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พร้อมให้บริการขนส่งหนังสือด่วนภายในงานด้วย มาตรฐาน EMS ในราคาเหมาจ่ายเริ่มต้นเพียง 50 บาท พร้อมยกขบวนแสตมป์และสิ่งสะสมที่น่าสนใจมาจำหน่าย ได้แก่
แสตมป์ที่ระลึกชุดวันอนุรักษ์มรดกไทย สินค้าที่ระลึกคอลเลกชันใหม่ อาทิ โปสต์การ์ดไดคัตภาพตู้ไปรษณีย์ โปสต์การ์ดลายเส้นภาพตึกไปรสนียาคาร (อาคารที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรก) และภาพตึกไปรษณีย์กลาง บางรัก บริการถ่ายภาพ iStamp ที่สามารถนำภาพถ่ายมาทำเป็นแสตมป์ใช้งานได้จริง เป็นต้น
นิทรรศการที่น่าสนใจ
มีนิทรรศการที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมข้ามชาติข้ามวัฒนธรรม ในกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดแสดงพระราชนิพนธ์แปลอันทรงคุณค่าในกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาจีน
นิทรรศการแสดงหนังสือดีเด่น ประจำปี 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการผลิตหนังสือดีมีคุณภาพ และสารประโยชน์สู่สาธารณชน กระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน
ส่งเสริมให้ผู้จัดพิมพ์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการผลิตหนังสือ เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญผลิตหนังสือดี มีคุณค่า รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเนื้อหาสาระให้น่าสนใจ
นิทรรศการวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้ากับการสร้างแรงบันดาลใจ จัดแสดงวรรณกรรมเรื่องสั้นและบทกวีการเมือง โดยรัฐสภา จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพทางการเมืองผ่านทางงานเขียน รวมทั้งเพื่อสืบสานสร้างสรรค์วรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
นิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 7 โดย Xiamen International Book Company ถือเป็นการชุมนุมแลกเปลี่ยนทางธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ระหว่างไทยและจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เปิดเวทีพูดคุยกับนักเขียนชื่อดัง
งานนี้ สำนักพิมพ์มติชน ยกขบวนนักเขียนนักแปลมาเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนว่าด้วยเรื่องราวหลากด้านที่ซ่อนอยู่ในหนังสือเหล่านั้นกับเวทีกิจกรรม “BOOKSELECTION TALK” ณ เวทีกลางของงาน ดังนี้
1.sundogs : Science Odyssey ปรากฏการณ์หนีตามวิทยาศาสตร์ ร่วมพูดคุยโดย นําชัย ชีววิวรรธน์ และ ชยภัทร อาชีวระงับโรค ดำเนินรายการโดย แทนไท ประเสริฐกุล วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 17.00-18.00 น.
2.ภาพจริง-ภาพจำ เบื้องหลังอำนาจ เลิกทาสไท(ย) ร่วมพูดคุยโดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 เวลา 12.00-13.00 น.
3.อ่านอินเดียในโลกบริติชราช ร่วมพูดคุยโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และสมฤทธิ์ ลือชัย วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566 เวลา 12.00-13.00 น.
4.เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์และทุนนิยมในโลกสมัยใหม่ ร่วมพูดคุยโดย Peter Jackson ดำเนินรายการโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 13.00-14.00 น.
กระทบไหล่นักเขียนและนักแปลที่คุณรัก
นอกจากขบวนหนังสือและ BOOKSELECTION TALK แล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ที่นักอ่านรอคอยคือการพบปะกับนักเขียนและนักแปล กับกิจกรรม Writers Meeting ซึ่งในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 สำนักพิมพ์มติชนขนทัพนักเขียนและนักแปลมาอย่างคับคั่ง อีกทั้งยังกลับมาพร้อมผลงานเล่มใหม่ล่าสุด
1.วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566
เวลา 14.30-15.30 น. ชยภัทร อาชีวระงับโรค
เวลา 15.30-16.30 น. นําชัย ชีววิวรรธน์
เวลา 19.00-20.30 น. หนุ่มเมืองจันท์
2.วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566
เวลา 11.30-13.00 น. หนุ่มเมืองจันท์
เวลา 13.30-14.30 น. ญาณินี ไพทยวัฒน์
เวลา 15.00-16.00 น. คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
3.วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566
เวลา 13.30-14.30 น. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เวลา 15.00-16.00 น. ดุลยภาค ปรีชารัชช
เวลา 16.30-17.30 น. ธงทอง จันทรางศุ
4.วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2566
เวลา 13.30-14.30 น. สถาวร จันทร์ผ่องศรี
เวลา 15.00-16.00 น. รัศม์ ชาญสงคราม
เวลา 16.30-17.30 น. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
5.วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566
เวลา 13.00-14.00 น. สุภัตรา ภูมิประภาส
เวลา 14.00-15.30 น. หนุ่มเมืองจันท์
เวลา 17.00-18.00 น. คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
6.วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566
เวลา 13.30-14.30 น. สถาวร จันทร์ผ่องศรี
เวลา 15.00-16.00 น. Peter Jackson
เวลา 16.30-17.30 น. สุรชาติ บำรุงสุข
ทั้งนี้ เชิญชวนนักอ่านมาช้อปหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนได้ที่บูท M49