ไข่แมว การ์ตูนนิสต์สุดแสบสัน ศิลปินประจำบูทสำนักพิมพ์มติชน

ไข่แมว
ผู้เขียน : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“สำนักพิมพ์มติชน” จับมือ “ไข่แมว” มาร่วมสร้างปรากฏการณ์ความแสบสัน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 พร้อมกับธีม ‘BOOKSELECTION’ ที่อยากสื่อสารถึงเสรีภาพในการเลือกอ่าน เสรีภาพในการเลือกหนังสือ และยังมีหมุดหมายสำคัญในการเล่าเรื่องหนังสือและความรู้ให้อิมแพ็กต์ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้

รวมถึงสนามการเมืองการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ ด้วยศิลปะของไข่แมวและหนังสือทุกเล่มที่สำนักพิมพ์มติชนคัดสรรมานำเสนอต่อนักอ่านทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ รัฐสวัสดิการ ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น และอำนาจ ฯลฯ ย่อมสะท้อนทุกบทบาทหน้าที่ในฐานะสำนักพิมพ์คนทำหนังสือ ผู้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความรู้ และส่งต่อพลังอิสรภาพในการอ่านให้กับนักอ่านทุกคน

ในขณะเดียวกัน นักอ่านย่อมมีอิสรภาพในการเลือกหนังสือที่จะมาเติมเต็มส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคน จนกระทั่งหนังสือและความรู้เหล่านี้ส่งต่อถึงผู้แทนที่จะเข้ามาสร้างสรรค์สังคมของเราต่อไป

ตัวการ์ตูนของไข่แมว ทำงานในฐานะศิลปะที่ตีแผ่เบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแสบสัน ในขณะเดียวกัน ก็นุ่มลึก มีอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยพลังของคนรุ่นใหม่

ก่อนที่จะเป็นไข่แมว

ผมเรียนจบศิลปะมา แล้วก็มาทำงานแอนิเมชั่น แต่จริง ๆ ผมวาดรูปไม่ค่อยเก่งหรอก ก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ค่อยวาดการ์ตูนเท่าไหร่ มาเริ่มวาดจริงจังก็ตอนทำเพจไข่แมว

โดยเหตุผลที่เลือกเขียนการ์ตูน เพราะคิดว่าเราน่าจะถนัด และการ์ตูนก็เป็นงานที่น่าจะสื่อสารกับคนได้มากกว่าสื่ออื่น ๆ ด้วยความที่การ์ตูนมีความเป็นแฟนตาซี เราสามารถจับประเด็น โน่น นี่ นั่น มาใส่ในการ์ตูนให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน หรือเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ๆ ในสังคมตอนนั้น ๆ ว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น เราก็เอามาผสมกับสิ่งที่กำลังฮิตในช่วงเวลานั้นอย่างหนัง, เพลง, การ์ตูน สำหรับผมการวาดออกมาเป็นการ์ตูนในสไตล์ของเรานั้นง่ายกว่าการพิมพ์ออกมาเป็นตัวหนังสือ

เล่าเรื่องราวผ่านภาพ

ผมไม่ชอบใส่พวกคำบรรยายในการ์ตูนของผม ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องไปเลยดีกว่า แล้วก็ให้คนดูไปจินตนาการกันเอาเอง แต่งานของผมไม่ได้ยากขนาดให้คนต้องตีความ ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจต้องตีความเยอะหน่อย แต่ช่วงหลัง ๆ งานของผมไม่จำเป็นต้องตีความอะไรมากแล้ว อยากจะด่าก็ด่าไปตรง ๆ เลย เพียงแต่จะใช้การสื่อสารด้วยภาพแทน

เวลาวาดการ์ตูนผมต้องคิดมุขก่อน ถ้าคิดไม่ออกก็จะยังไม่วาด เพราะงานจะไม่จบ ฉะนั้น ต้องมีการวาง สมมุติตอนนี้ข่าวหรือประเด็นในสังคมที่เราจะพูด เราก็ต้องนึกว่ามีเรื่องอะไรที่กำลังเป็นกระแสในสังคม อย่างหนังเรื่องนี้กำลังเป็นที่นิยม เราสนุกกับมันอยู่ เราจะหยิบหนังเรื่องนี้มาเล่นดีไหม ? แล้วจะวาดให้เข้ากับข่าวนี้อย่างไรดี ? เวลาวาดก็ต้องมีการวางแผน เพื่อวาดให้เรื่องจบใน 4 ช่อง

การ์ตูนเสียดสีสะท้อนตัวตนไข่แมว ?

ถึงแม้คนจะมองว่าการ์ตูนของผมตลกร้าย คมคาย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคนที่รู้จักผมเขาจะมองว่าผมเป็นอย่างงั้นหรือเปล่า บางคนอาจจะมองว่างานที่เราทำมักจะสะท้อนนิสัยส่วนตัวของเราออกมา แต่จริง ๆ ผมมักจะเป็นคนนิ่ง ๆ เงียบ ๆ

ถามว่าการวาดการ์ตูนออกมาได้ตลกและคมคายเอามาก ๆ ทั้งที่ตัวจริงเงียบขรึม เพราะเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ขันและมุขตลกของเขาผ่านการ์ตูนหรือไม่นั้น ไข่แมวกล่าวว่า ก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะบางทีการพูดคุยกับคนกับการวาดการ์ตูนก็ต่างกัน บางทีเวลาเราคุยกับใครอยู่ แล้วคิดมุขตลกขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดออกไปทำไม หรือคิดว่าไม่เล่นดีกว่า เอาไปใช้กับการ์ตูนที่เราวาดดีกว่า ส่วนจะปล่อยตอนไหน ก็แล้วแต่บริบทของงานชิ้นนั้น ๆ

การ์ตูนทันเหตุการณ์

ผมก็ต้องคอยติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ต้องเช็กข้อมูลและที่มาของข่าวนั้นให้ชัวร์ก่อนที่จะเอามาเล่น ไม่อย่างนั้นเราจะเงิบ ที่สำคัญผมทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะผมสามารถวาดการ์ตูนบนโทรศัพท์มือถือได้ ไม่ต้องกลับมาวาดที่บ้านให้เสียเวลา

ในช่วงแรกที่วาดการ์ตูน ผมก็ได้รับอิทธิพลมาจาก โจน คอร์เนลลา ในการนำเสนอการ์ตูนที่เล่าเรื่องด้วยภาพ โดยไม่ใช้คำพูดหรือคำบรรยายอะไรนั่นแหละ แต่พอวาดไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนเราฝืน เพราะว่าไม่ใช่สไตล์ของเรา ตอนหลังผมก็ค่อย ๆ ปรับมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นลายเส้นของตัวเอง ที่เราวาดได้โดยไม่ฝืน เป็นลายเส้นที่วาดได้คล่องตามที่เราต้องการ (เราแอบรู้มาว่า โจน คอร์เนลลา ก็เคยดูผลงานของไข่แมวด้วย)

ความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์มติชน

รู้สึกดีใจที่ได้เผยแพร่งานของตัวเองอยู่บูทมติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พอเด็ก ๆ ที่มางานหนังสือเดินผ่านบูทแล้วเขาอาจจะสนใจการ์ตูนของผม เขาอาจจะสะดุดว่ามีการ์ตูน แล้วจูงแม่ไปบูทนี้ ได้ไปเห็น ได้อ่านหนังสือดี ๆ เริ่มซึมซับ มีโอกาสตื่นรู้เรื่องสังคมการเมือง แต่จริง ๆ เด็กสมัยนี้เขาฉลาด เขาคิดของเขาเองได้ เราไม่จำเป็นต้องสอนเขาเลย

งานที่ออกแบบให้มติชนคราวนี้ ผมจับกลุ่มไปที่คนรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดเด็ก ๆ วัยรุ่นให้มาสนใจ เราเลยทำให้ภาพออกมาสนุก ไม่เคร่งเครียดเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองว่าหนังสือจะต้องซีเรียส จริงจัง ผมเลยทำงานออกมาให้ดูสดใส ผ่อนคลายขึ้น

ร่วมสร้างปรากฏการณ์ความแสบสัน ท่องไปในผลงานศิลปะการ์ตูนของไข่แมว และ “เลือกอ่าน” หนังสือหลากแนวกันได้ที่บูท M 49 สำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน พ.ศ. 2566 นี้