สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เบื้องหลังความสำเร็จ ไทบ้าน เดอะซีรีส์

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
ผู้เขียน ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

วันนี้รายได้หนังเรื่อง “สัปเหร่อ” กำลังมุ่งสู่ 800 ล้านบาท เป็นปรากฏการณ์และสร้างกระแสอีสานซอฟต์พาวเวอร์ไปทั่วประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนอ่านเรื่องราวที่บอกเล่าโดย “โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” ผู้สนับสนุนและเบื้องหลังความสำเร็จของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”

โต้ง สิริพงศ์ ขึ้นเวทีเสวนากับ “สรกล อดุลยานนท์” (หนุ่มเมืองจันท์) ในหัวข้อ “กรณีศึกษา ISAN Soft Power ไทบ้านเดอะซีรีส์” ในงานสัมมนา “Thailand 2024 Beyond Red Ocean” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ พร้อมเล่าย้อนเรื่องราวของไทบ้าน ว่า เมื่อ 6 ปีก่อน น้อง ๆ กลุ่มนี้มาขอทุนทำหนัง พวกเขามีฝัน รวมเงินกันทำทีเซอร์

เขาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กและมาขอทุน ภายใน 1 สัปดาห์มีคนดู 1 ล้านวิว ทั้งที่บูสต์โพสต์จากการกดผิดไปแค่ 500 บาท แสดงว่าเฟซบุ๊กต้องมีอะไรสักอย่าง แต่เราก็ยังไม่ได้เชื่อว่าแฟนเพจของเขามีพลัง ผมเลยคิดคำขึ้นมาและให้เขาโพสต์ต่อหน้า “อกหัก แต่บอกเมียไม่ได้” ปรากฏว่า 10 นาที 7,000 ไลก์ 3,000 แชร์ จึงรู้ว่าเพจของเขามีพลังจริง

สุดท้ายผมให้ทุนพวกเขา 2 ล้านบาท พร้อมบอกว่า ลองไปคิดดูว่าทำได้ไหม สัปดาห์หน้าค่อยมาคุย ปรากฏว่าเขาตอบตกลงแบบไม่คิด ทันทีที่ให้เงินไป ผมมีโจทย์ คือ ต้องถ่ายทำในศรีสะเกษ เพราะอยากให้คนดูแล้วมาเที่ยว แต่คิดว่าขาดทุนแน่ เพราะไม่มีความชำนาญในธุรกิจนี้

ซึ่งน้อง ๆ ไทบ้านกลับบอกว่า คนอีสานมีจำนวนมากสุดในประเทศไทย เกือบครึ่งของประเทศ เราเลยคิดว่าเริ่มต้นจากขาดทุนและค่อย ๆ มีกำไร ถ้าสุดท้ายหนังไม่ทำเงินในโรง แต่ลงในเฟซบุ๊กและมี 1 ล้านคนมาดู ถือว่าวิวละ 2 บาท เป็นค่าโฆษณาให้จังหวัดเรา

ไม่คิดว่าไทบ้านจะมาถึงวันนี้

แค่คิดว่าไม่ขาดทุนก็โอเคแล้ว สรุปไทบ้าน เดอะซีรีส์ ภาคแรกที่ลงทุนไป 2 ล้านบาท มีรายได้ 40 ล้านบาท และคนก็เริ่มอยากรู้จัก อยากไปเที่ยว เราก็ทำเหมือนเกาหลีเลย เอาสแตนดี้นักแสดงไปตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ได้โฆษณาจังหวัดของเราด้วย

วันที่สัปเหร่อแตะ 100 ล้านบาท มีค่ายหนังต่าง ๆ ถามว่าโฆษณาไปเท่าไร เลยถามกลับว่าเวลาเขาโฆษณาเท่าไร เขากระซิบว่า 30 ล้านบาทในแต่ละเรื่อง ผมเลยบอกไปว่าเราใช้ 30,000 บาท ยิงแอดโซเชียลอย่างเดียว ช่วงโควิดลำบากมาก ภาคนี้เลยไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง การติดบิลบอร์ดโฆษณาโรงหนังทั่วประเทศต้องใช้เงินครึ่งหนึ่งของค่าโปรดักชั่นหนัง ซึ่งมันมากเกินไป เรามั่นใจว่าแฟนคลับเราแข็งแรง

ความสำเร็จของหนังเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่ากระแสมีส่วนสำคัญ แต่สัปเหร่อผมคิดว่าดีด้วยเนื้อเรื่อง มันเป็นหนังของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีปาฏิหาริย์ เหมือนไม่ได้มาดูดารา แต่ดูชีวิตเพื่อน ดูตัวเอง ดูชีวิตคนคนหนึ่ง

สัปเหร่อเป็นเรื่องที่ 6 และจะมีอีก 3 เรื่องในจักรวาลนี้ เราทำไป สร้างคนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีนักแสดงหน้าใหม่และสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ ในระหว่างเส้นเรื่องแต่ละภาค ก็จะดูว่าตัวละครไหนโดดเด่นขึ้นมา เช่น หนังเกาหลีบางเรื่องนางรองสวยและน่าสงสารกว่านางเอก เราเอาคอนเซ็ปต์นี้มาใช้กับ “หมอปลาวาฬ” มีคนอินถึงกับแต่งเพลงมาให้ “บ่เป็นหยัง เค้าเข้าใจ” เราซื้อมาด้วยเงิน 15,000 บาท และวันนี้ 154 ล้านวิวแล้ว

กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง

ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องป่าล้อมเมือง แต่สถานการณ์บีบบังคับ ตอนแรกจะฉายแค่โรงในภาคอีสาน แต่ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ภาคแรกกลับเกิดปรากฏการณ์โรงแตก หนังไปต่อได้ จึงใช้กลยุทธ์ใหม่ซึ่งเราไม่มีงบฯโฆษณาเหลือแล้ว จึงใช้วิธีที่คุ้นเคยคือการยิงแอดเฟซบุ๊ก ต่อยอดกระแสจากภาคอีสาน 2-3 วันแรก

เราเลือกยิงแอดแถบภาคตะวันออกและชานเมืองกรุงเทพฯ เพราะชาวอีสานอาศัยอยู่มาก ยิงไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าสำเร็จ โรงหนังในกรุงเทพฯต้านกระแสไม่ไหวก็รับมาฉาย แต่กลางเมืองจริง ๆ ยังไม่มี จะฉายบริเวณบางพลี บางเเค บางกะปิ หรือย่านรังสิต เป็นต้น เป็นปรากฏการณ์โรงแตกรอบ ๆ กรุงเทพฯ และเกิดเป็นป่าล้อมเมือง

พอภาค 2 ก็เริ่มมีคนรู้ว่ามีหนังแบบนี้ เรามีที่ฉายมากขึ้น จนกระทั่งโดนคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) แบนในภาค 2.2 เนื่องจากมีฉากที่พระร้องไห้ฟูมฟายเพราะแฟนตาย จึงถูกเซ็นเซอร์ทั้ง ๆ ที่หนังกำลังจะฉายแล้ว ถึงขนาดว่ามีแฟนคลับมารอดูอยู่หน้าโรงแล้ว สุดท้ายภาค 2.2 ก็กลายเป็นกระแสและทำรายได้ 100 ล้านบาท

ซอฟต์พาวเวอร์ ขึ้นอยู่กับมุมมอง

ตอนแรกไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำคือซอฟต์พาวเวอร์ แค่ต้องการนำที่เที่ยวศรีสะเกษเข้าไปในหนัง ดู “กวน มึน โฮ” และอยากไปเที่ยวเกาหลี เลยมีความรู้สึกว่าถ้าทำหนังแบบนี้แล้วมีคนอยากมาเที่ยวศรีสะเกษจะเป็นอย่างไร ภาคอื่น ๆ ผมมั่นใจว่าคือซอฟต์พาวเวอร์ท่องเที่ยวศรีสะเกษ แต่สัปเหร่อเราไปถ่ายที่ทุ่งนา เมรุวัด จึงไม่มั่นใจว่ามันคือซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ แต่แฟนคลับบอกว่าเขาดูสัปเหร่อเเล้วอยากไปเที่ยวศรีสะเกษ ฉากข้าวจี่ที่ยายเอาให้หลานกิน เป็นข้าวจี่ไหม้ ๆ คนคอมเมนต์ว่าดูแล้วอยากกินข้าวจี่ แสดงว่ามันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แม้เราไม่ได้ตั้งใจ

“สำหรับสิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นซอฟต์พาวเวอร์แน่นอน คือมันทำให้คนที่ดูหนังเรื่องนี้เขากลับมาคิดถึง ‘สถาบันครอบครัว’ เวลาเขาดูอะไรแบบนี้แล้วเขามีความภาคภูมิใจในบ้านเกิด มันจะมีแรงที่บอกเขาว่า วันที่เขาประสบความสำเร็จ เขาต้องกลับไปพัฒนาบ้านเขา เรื่องนี้เป็นความสำเร็จสูงสุดของหนังเรื่องสัปเหร่อ”

รัฐต้องช่วยต่อยอดความฝัน

รัฐบาลชุดนี้มีความพยายามที่จะผลักดันสัปเหร่อไปยังต่างประเทศ ผมบอกน้อง ๆ ว่า อย่าเพิ่งไปเซ็นสัญญากับค่ายอื่น โดยเฉพาะเรื่องการออกไปประกวด เพราะรัฐบาลจะช่วย จะไปในนามตัวเองหรือนามทีมชาติ แน่นอนน้อง ๆ พูดเหมือนกันว่า นามทีมชาติ และรัฐบาลบอกว่าไม่ใช่สัปเหร่อเรื่องเดียว ต้องเอาหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ไปด้วย สิ่งนี้สร้างความภูมิใจให้คนทำหนัง

สำหรับรัฐบาลอื่น ๆ ที่ผ่านมา เคยไปถามว่าทำไมการได้เงินสนับสนุนสร้างหนังถึงยากนัก เพราะเขาไปกำหนดโจทย์ว่าหนังควรเป็นแนวไหน เท่ากับความคิดของคนทำหนังถูกจำกัด ผมว่ามันคับแคบไป

ฝากถึงกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าจะกำหนดว่าให้การสนับสนุนหนังแบบไหน อยากให้เขาสอดแทรกอะไรที่ส่งเสริมประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม อย่าไปกำหนดโจทย์ยาก ช่วยให้เขาได้ต่อยอดความฝัน อย่าไปบล็อกความคิดเขา