ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่ ช่างภาพ - ภิญโญ ปานมีศรี
ท่ามกลางบรรยากาศหนังไทยที่เป็นไปอย่างคึกคัก “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อาจารย์โต้ง-อัจฉริยะ ศรีทา” ผู้รับบท “สัปเหร่อศักดิ์” จากชีวิตการเป็นอาจารย์สู่นักแสดงตัวหลักในภาพยนตร์ทำเงิน 800 ล้านบาท
ปฏิเสธบทสัปเหร่อ ไม่กล้าออกจากเซฟโซน
อาจารย์โต้งเล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เดิมเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี และมาทำงานที่ศรีสะเกษ คนส่วนใหญ่รู้จักในฐานะอาจารย์สอนสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จุดเริ่มต้นของการรับบทสัปเหร่อศักดิ์ ในภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” คือ “ศักดิ์-สุรศักดิ์ ป้องศร” ผู้กำกับภาพยนตร์ไทบ้าน เดอะซีรีส์
อยากได้ตัวละครที่เป็นสัปเหร่อมาผ่าท้อง “ใบข้าว” ที่เสียชีวิตตอนท้ายภาค 2.2 ลูกศิษย์ผมที่ทำงานในกองถ่ายก็เอาภาพผมให้สุรศักดิ์ดู เขาก็ชอบและติดต่อมา แต่ผมปฏิเสธ เพราะไม่เคยแสดงหนัง ตอนที่สอนนักศึกษาจะมีบทบาทที่เป็นลุงเป็นพ่อ นักศึกษามาขอให้เล่น ผมก็ปฏิเสธตลอด
เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง แม้ผ่านเบื้องหลังมาเยอะ สามารถบรีฟนักแสดงได้ว่าต้องการอะไร แต่พอถึงตัวเอง คิดว่าทำไม่ได้แน่ ๆ จึงปฏิเสธไปในช่วงแรก แต่ไทบ้านก็โทร.มาหลายครั้ง ก็เริ่มคิดว่าแค่ไปเป็นนักแสดงประกอบตอนท้าย คงไม่มีอะไร ถึงเล่นเเย่คนก็จำหน้าไม่ได้
ผู้ช่วยผู้กำกับก็บอกว่าภาคนี้แค่เป็นตัวประกอบ ค่อยมีหนังภาคแยก ซึ่งตอนนั้นเขาก็ยังไม่ได้คิดชื่อ ผมเลยไม่คิดอะไร ถ้าเล่นแย่หนังก็มีเวลาไปแคสติ้งนักแสดงใหม่มารับบท เลยลองดู หลุดจากเซฟโซนตัวเอง เข้าไม่กี่ฉากก็ไม่น่ายากอะไร จึงตกปากรับคำ
เราถ่ายไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 ประมาณปี 2562 หลังจากนั้นมีโควิด คนไม่ดูหนังในโรง ผ่านมา 4-5 ปีก็ไม่คิดว่าจะมีเรื่องสัปเหร่อด้วยซ้ำ เพราะรายได้หนังช่วงนั้นไม่ค่อยดี ไม่มีใครกล้าทำหนังออกมา เลยไม่ซีเรียสว่าต้องมารับบทนำเรื่องสัปเหร่อ
จนกระทั่งไปนิเทศนักศึกษาฝึกงานและเจอสุรศักดิ์ ถึงรู้ว่าเขายังทำบทกันอยู่ และต้องการให้เรามาเล่น พอบทใกล้เสร็จก็ย้ำว่าอาจารย์ต้องเล่นนะ มันเข้าใกล้ความเป็นจริงไปทุกที ผมจึงเริ่มหนักใจ แต่ถ้าเขามั่นใจในตัวเราก็ต้องลองดู
พอได้เล่นจริง ๆ ด้วยความใหม่ในฐานะนักแสดง ต้องทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด ทำการบ้านทั้งบทบาท ไดอะล็อก พยายามไม่สร้างความเสียหายให้กองถ่าย ไม่ทำให้หนังเขาพัง ผมน่าจะเป็นคนเดียวในสัปเหร่อที่เข้ามาใหม่ เราไม่มีพื้นฐานการแสดงเลย จึงค่อนข้างเครียด
ตั้งแต่ไทบ้านภาค 2.2 แล้ว ช่วงเวลานั้นมีการสูญเสียเกิดขึ้นมากมายรอบตัว ผมพยายามไปใกล้ชิดกับพิธีกรรมและวิธีการทำงานของสัปเหร่อ ดูว่าต้องทำอย่างไร ไปสังเกต ไปลองทำ ทั้งอาบน้ำศพ แต่งตัวให้ศพ ยกศพเข้าโลง ดูว่าสัปเหร่อตัวจริงมีลักษณะท่าทางอย่างไร แต่งตัวอย่างไร เทคนิคการพูด ตลอดจนการวางตัว และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบุคลิกเรา นอกจากนี้ ยังได้ข้อมูลจากต้องเตด้วย เขารีเสิร์ชเยอะมาก แล้วเอามาเล่าให้ฟัง
คนสุดท้ายที่อยู่กับร่างไร้วิญญาณ
อาชีพสัปเหร่อสำคัญมาก เขาเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับร่างไร้วิญญาณ เหมือนที่บอกในหนัง “ถ้าจรรยาบรรณของทนายคือความถูกต้อง จรรยาบรรณของสัปเหร่อคือไม่เลือกปฏิบัติกับศพ” ต่อให้ศพจะเป็นคนชั่ว ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงมา หรือหน้าตาพิกลพิการ ก็ต้องอยู่กับศพตรงนั้น คนอื่นอาจจะกลัว
แต่สัปเหร่อไม่มีสิทธิกลัว เพราะเป็นหน้าที่ จะพูดว่าเสียสละก็ได้ เพราะสัปเหร่อไม่มีเงินเดือน ขึ้นอยู่กับสินน้ำใจเจ้าภาพ ยิ่งยุคหลังมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งโควิดและโรคต่าง ๆ อาชีพสัปเหร่อควรต้องดำรงไว้ น้อยคนที่จะเลือกทำ
ยุคหลัง ๆ พอเห็นสัปเหร่อรุ่นใหม่ที่อยากทำอาชีพนี้ก็พอชื่นใจ มี 2-3 คนทักมาในเพจ ว่าเขาลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ และกลับมาเป็นสัปเหร่อแทนพ่อ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเรื่องราวแบบนี้ด้วย หนังได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว คือการสร้างแรงจูงใจที่ดี และมีอิทธิพลเกินกว่าที่เราคิดไปมาก มันสร้างปรากฏการณ์ได้จริง ๆ คนทำงานศิลปะก็ชื่นใจ
ส่วนตัวก็ยังไม่เคยเจอผีหรือวิญญาณ แต่ก็อยากรู้ว่ามีจริงหรือ หรือเขาอยู่กับพวกเราในอีกมิติ เดินสวนกันไปมา แต่คนมีเซนส์ก็เห็น คนไม่มีก็ไม่เห็นหรือเปล่า เพราะเซนส์คนเราไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็อาจเป็นไปได้หมด มีความเป็นไปได้เสมอ ที่สำคัญคือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เราต้องเคารพในสิ่งนั้น
ซอฟต์พาวเวอร์ กลมกลืน ไม่ยัดเยียด
ภาพยนตร์เป็นสื่อที่แฝงซอฟต์พาวเวอร์ได้ดีมาก อยู่ได้คงทน ดูซ้ำได้เรื่อย ๆ ดังนั้น สิ่งที่ใส่เข้าไปในเนื้อหา หรืออะไรที่ต้องการเผยแพร่ สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีได้อยู่แล้ว แต่ต้องเลือกที่กลมกลืนกับเนื้อหา ไม่ยัดเยียดหรือไทอินจนน่าเกลียด
เช่น บางเนื้อหาในสัปเหร่อ หลายวัฒนธรรมคนไม่เคยรู้ แม้เคยได้ยินมาบ้าง แต่ก็เพิ่งเห็นในหนัง ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ลองศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมบางอย่างที่มีมานานแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็อยากดำรงไว้ ภาพยนตร์มีส่วนที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีเหมือนกัน
มันต้องผ่านกระบวนการคิดและพูดคุย ซึ่งต้องให้แรงสนับสนุนคนทำหนังด้วย เขาจะได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้คนได้ดูและสนุกกับมันอย่างกลมกล่อม โดยที่ไม่ฝืนความรู้สึกของทั้งคนทำและคนดู
“คนที่อยากจะให้มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็คิดและก็วางแผนดี ๆ ว่าจะทำอะไร ใส่เนื้อหาอะไรเข้าไปในหนังเพื่อให้คนดู กลุ่มเป้าหมายที่อยากจะให้เขาเห็น แม้กระทั่งคนในวัฒนธรรมตัวเอง ทำยังไงให้เขารู้สึก”
ตัวตนที่เหมือนเดิมกับชีวิตที่เปลี่ยนไป
หลังจากสัปเหร่อโด่งดังเป็นปรากฏการณ์ อ.โต้ง บอกว่า ตัวผมเองยังเหมือนเดิม ใช้ชีวิตปกติ แต่คนรอบข้างมองผมไม่ปกติ และปฏิบัติกับผมเปลี่ยนไป ส่วนแฟนหนัง ผมปลื้มใจที่เขารู้จักเรา จากเดิมที่ไม่มีใครรู้จักเลยก็มีคนมาขอถ่ายรูป ผมดีใจมากและยินดีที่จะไปถ่ายรูปกับเขา ไปกอดเขา เพราะเขาชื่นชมเรา เราก็ชื่นชมเขาเหมือนกันที่เขาให้เกียรติเรา อันนั้นคือความสุขอย่างหนึ่ง
จนกระทั่งทำเพจ “สัปเหร่อศักดิ์ ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์” เพราะอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่เขาชอบสัปเหร่อศักดิ์ หลายคนทักแชตมาระบายความรู้สึกสูญเสีย หลายคนเล่าแรงบันดาลใจ ถ้าผมมีเวลาจะเข้าไปคอมเมนต์หรือตอบเขา ผมสร้างเพจนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะรวบรวมคน รวบรวมผลงานที่พูดถึงหนังสัปเหร่อ แชร์เก็บไว้เพื่อให้ผมและลูกเพจได้ดู
ต่อจากนี้ของขวัญที่จะให้ตัวเองคือ “ใช้หนี้ให้หมด” ทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง อยากทำให้พวกเขามีความสุข เหมือนก่อนหน้านี้เรามีทุกข์ “เราต้องปลดทุกข์ก่อนถึงจะมีความสุข” อีกอย่างคืออยากมีรถบ้าน ไปที่ไหนก็ได้ ใช้ชีวิตบั้นปลายไปกับการพาพ่อแม่ท่องเที่ยว
สุดท้าย สิ่งที่ อ.โต้งอยากฝากคือ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราไม่รู้เลยว่ามีเวลาเหลือกี่มากน้อย ให้เวลากับคนที่รักเราและคนที่เรารักมาก ๆ ถ้าวันหนึ่งต้องจากกัน การโหยหา ความเสียใจ ความสิ้นหวังมันจะตามมา เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขา ไม่ได้มีเวลาอยู่กับเขามากพอ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขามากพอ อะไรที่สำคัญสุดสำหรับเราในตอนนี้และก็ตลอดไป ตรงนั้นคือคำว่า “ครอบครัว”