
ปักหมุด 10 ร้านดัง “จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน” แหล่งรวมสตรีตฟู้ดหลายสไตล์ ทั้ง “ร้านในตำนาน-ร้านมิชลินไกด์-ร้านฮิตติดกระแส” สวรรค์นักกิน
วันที่ 5 มกราคม 2567 ปัจจุบันอาหารริมทาง หรือ “สตรีตฟู้ด” ของไทยกำลังได้รับความนิยมในระดับสากล จัดเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างมูลค่าการตลาดนับแสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเปิดประสบการณ์ความอร่อย จนกรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็น “มหานครแห่งสตรีตฟู้ด”
กรุงเทพมหานครมีย่านธุรกิจอาหารริมทางมากมาย หนึ่งในย่านที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่คนรุ่นใหม่ คือ “จุฬาฯ–บรรทัดทอง–สามย่าน” กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง ดึงดูดทั้งทัวริสต์ นักเรียน นักศึกษา ชาวออฟฟิศ ตลอดจนคนในพื้นที่ให้มาลิ้มลอง
“สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ได้รวบรวมลายแทงความอร่อยของบรรดาร้านเด็ดร้านดังในย่านจุฬาฯ–บรรทัดทอง–สามย่าน สวรรค์นักกินแห่งใหม่ ซึ่งมีถึง 3 สไตล์ ทั้ง “ร้านดังในตำนาน-ร้านดังมิชลินไกด์-ร้านฮิตติดกระแส”
ร้านดังในตำนาน
โจ๊กสามย่าน
“โจ๊กสามย่าน” หรือเดิมชื่อ “ลี้เคียงไถ่” เป็นร้านโจ๊กในตำนานที่เปิดมากว่า 70 ปี ขายตั้งแต่มีการสร้างตึกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตึกแรก จนปัจจุบันขยายไปแล้วถึง 8 สาขา การันตีรสชาติดั้งเดิมแบบต้นตำรับ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือกระบวนการทำ เนื้อหมูเกรดเอที่นำมา และเนื้อโจ๊กที่เป็นเมล็ดกลม ๆ นุ่มพอดีคำ มีเมนูยอดนิยมคือ “โจ๊กหมูรวมเครื่องใส่ไข่” และ “เกาเหลาพิเศษ” (โจ๊กแห้งโคตรหมู)
ร้านเปิดทุกวัน เวลา 05.00-09.30 และ 15.00-20.00 น.
ร้านเจ๊แดง
“ร้านเจ๊แดง” เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 จากรถเข็นคันเล็ก ๆ ที่ขายอยู่ริมรั้วคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จนขยายเป็นร้านอาหาร และด้วยรสชาติความอร่อยที่ลูกค้าติดอกติดใจ จึงมีนักลงทุนเข้าร่วมทุนและขยายสาขามากถึง 30 สาขาในปัจจุบัน
เมนูยอดนิยมที่ใครมาก็ต้องสั่งคือ “คอหมูย่างสูตรข้าวคั่ว” เป็นหมูหมักพร้อมน้ำจิ้มสูตรเด็ด และเมนูยำไก่ทอด ข้าวโพดไข่เค็ม น้ำตกหมู ลาบปลาดุก ก็เด็ดไม่แพ้กัน ร้านเจ๊แดงเปิดเวลา 10.30-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์ (ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขา)
น้ำเต้าหู้เจ้วรรณ
เมื่อเอ่ยถึงของหวานที่บรรทัดทอง ชื่อที่ต้องผุดขึ้นมาคือ “ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ” เดิมทีร้านนี้ขายเพียงน้ำเต้าหู้ร้อน เต้าฮวยน้ำขิง แต่หลังจากที่ย้ายมาอยู่จุฬาฯ ซอย 22 ก็เพิ่มเมนูอื่น ๆ เข้ามามากมาย อาทิ เฉาก๊วยนมสด น้ำเต้าหู้เย็นทรงเครื่อง บัวลอยน้ำขิงเครื่องรวม เป็นต้น
เจ้วรรณเปิดมานานกว่า 30 ปี จากเดิมซึ่งเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ก็ถูกโหมกระแสความดังขึ้นไปอีก “ลิซ่า BLACKPINK” มาเช็กอิน เมนูที่ไม่ควรพลาดคือเฉาก๊วยนมสดภูเขาไฟ และคือบัวลอยนมสดทับทิมกรอบ ร้านเปิดเวลา 15.00-23.30 น. ปิดวันอาทิตย์
ร้านดังมิชลินไกด์
ข้าวต้มปลากิมโป้
“ข้าวต้มปลากิมโป้” เป็นร้านข้าวต้มปลาที่เปิดมานานกว่า 70 ปี เอกลักษณ์คือ ปลาเก๋าสดตัวใหญ่แขวนเด่นที่หน้าร้าน การันตีรสชาติด้วยรางวัลระดับมิชลินไกด์ ปี 2017-2023 ขึ้นชื่อเรื่องความสดและความหลากหลายของอาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลาเก๋า ปลาจาระเม็ด ปลาเต๋าเต้ย ปลาหมอ กุ้ง หมึก หอย ทางร้านคัดสรรวัตถุดิบสดใหม่ รวมถึงแกะก้างปลาให้ด้วย
เมนูที่นิยมสั่งกันคือข้าวต้ม ไม่ว่าจะเป็น ปลา กุ้ง หมึก หอย สำหรับเมนูข้าวต้มยอดนิยม ได้แก่ “ข้าวต้มปลาเก๋าแดง” และ “ข้าวต้มปลาเต๋าเต้ย” เนื้อนุ่ม ละมุนลิ้น ชิ้นโต รวมทััง “ข้าวต้มปลากะพง” ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ฮิตไม่แพ้กัน ร้านเปิดทุกวัน เวลา 15.30-22.30 น.
เอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด สาขาบรรทัดทอง
“เอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด” เดิมชื่อร้าน “ฮะเซ่งฮวด” สตรีตฟู้ดที่เปิดมานานกว่า 50 ปี ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เอลวิสสุกี้ สาขาแรกตั้งอยู่ซอยยศเส ก่อนเปิดสาขาใหม่ที่บรรทัดทอง
จุดขายของร้านคือสุกี้ มีทั้งหมู ไก่ เนื้อ และทะเล ดีกรีมิชลินไกด์ 6 ปีซ้อน (2018-2023) เมนูยอดนิยมมีทั้ง สุกี้เนื้อ สุกี้แห้งทะเล ที่เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด และอีกเมนูที่ไม่ควรพลาด คือ ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ สูตรต้นตำหรับเอลวิส และหอยเชลล์สูตรทรงเครื่อง ซึ่งเป็นเมนูแนะนำจากมิชลินไกด์ 2018-2021 ร้านเปิดทุกวัน เวลา 15.30-00.00 น.
ล้งเล้งลูกชิ้นปลา
“ล้งเล้งลูกชิ้นปลา” ร้านดังแห่งตลาดสวนหลวง เดิมชื่อร้าน “นายใบ้” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ล้งเล้ง และได้ย้ายร้านมาที่ถนนบรรทัดทอง ตรงข้ามอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ล้งเล้งเปิดมานานกว่า 40 ปีแล้ว ได้รางวัลมิชลินไกด์ 6 ปีซ้อน (2018-2023)
จุดเด่นคือลูกชิ้นปลา ที่ไม่มีแป้งผสมและทำใหม่ทุกวัน เมนูที่ไม่ควรพลาดคือบะหมี่เย็นตาโฟแห้งต้มยำ กินคู่กับหนังปลาดาบกรอบสูตรล้งเล้ง พร้อมของทานเล่นที่ใครมาก็ต้องสั่งคือเกี๊ยวทอดไส้หมู ร้านเปิดทุกวัน เวลา 16.30-23.00 น. จอดรถได้ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
ร้านฮิตติดกระแส
CQK Mala Hotpot
เริ่มกันที่ “CQK Mala Hotpot” สามย่าน–บรรทัดทอง ร้านหม้อไฟหมาล่า สูตรต้นตำรับจากเมืองฉงชิ่ง แม้จะมีหลายสาขา แต่ที่บรรทัดทองเป็นสาขาใหญ่ที่สุด มี 3 ชั้น ภายในตกแต่งสไตล์จีนร่วมสมัย มีทั้งห้องส่วนตัว และห้อง VVIP (สำหรับ 20 ท่าน) ที่สามารถจัดปาร์ตี้และร้องคาราโอเกะได้ เหมาะสำหรับคนที่มาเป็นกลุ่มหรือครอบครัว
ความเด็ดอยู่ที่น้ำซุป ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำซุปฟักทอง น้ำซุปกระดูกหมู น้ำซุปหมาล่าเนื้อ เป็นต้น ส่วนบาร์น้ำจิ้ม ทางร้านก็มีป้ายเขียนวิธีการปรุงรสต่าง ๆ ให้เข้ากับน้ำซุปที่เลือกไว้ หรือจะให้พนักงานตักให้ก็ได้
เมนูที่ไม่ควรพลาดคือลูกชิ้นกุ้ง และเอ็นหอยเชลล์ตัวใหญ่ นำมาจุ่มกับน้ำซุปหมาล่าและจิ้มกับน้ำจิ้มสูตรทางร้าน สำหรับสายเนื้อ มีเนื้อวากิวญี่ปุ่น จุ่มลงน้ำซุปประมาณ 10 วินาที นุ่มละลายในปาก ที่ขาดไม่ได้คือไส้เป็ดพรีเมี่ยม ส่วนของทานเล่น ที่ใครมาก็ต้องสั่งก็คือหมั่นโถวทอด ร้านเปิดทุกวัน เวลา 11.00-03.00 น.
หนึ่ง นม นัว
“หนึ่ง นม นัว” เป็นร้านขนมปังอบหั่นเต๋าเสียบไม้ ที่โด่งดังจากจังหวัดภูเก็ต จุดเริ่มต้นเกิดจากความชื่นชอบการทำขนมปังเป็นงานอดิเรกของเจ้าของร้าน นำไปสู่ไอเดียทดลองทำขนมปังและดิปแบบโฮมเมด จากความสำเร็จที่ภูเก็ต ได้นำสูตรความอร่อยขึ้นสู่กรุงเทพฯ เปิดสาขาที่ 2 ที่บรรทัดทอง
เมนูเด็ดคือ ดิปลาวาไข่เค็มท็อปด้วยไอศกรีมนมฮอกไกโด โชคุปังอบกรอบ โดยดิปมีให้เลือกหลายรส ได้แก่ ดิปสังขยาใบเตย ลาวาไข่เค็ม ฮอกไกโดครีมสด นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่ม นมนัว ออริจินอล รสชาติลงตัว ส่วนใครที่สนใจเมนูของคาว ก็มีทั้งขนมปังอบสาหร่ายห่อปูอัดไข่กุ้ง ซึ่งเป็นเมนูแปลกใหม่ที่ต้องลอง
ร้านเปิดทุกวัน เวลา 16.00-01.00 น.
ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน
“ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน” ชื่อร้านซึ่งยาวพอ ๆ กับลูกค้าที่ต่อคิว เดิมร้านนี้เป็นคาเฟ่ชื่อว่า “Better Beam café” มีเมนู ชาเย็น เป็นซิกเนเจอร์ หลังจากเปิดร้านได้ 2 ปี และขายเพียงเมนูชาเย็น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น BEAMS CHA จนในที่สุดก็ได้ปรับเป็นชื่ออย่างในปัจจุบัน ร้านตกแต่งคุมโทนด้วยสีส้ม มีความเป็นมินิมอล เมนูเด็ดที่ต้องลองคือ CHA YEN with baba ร้านเปิดทุกวัน เวลา 08.00-22.30 น.
ขนมไทยแม่เดือน บรรทัดทอง
ในอดีต “ขนมไทยแม่เดือน” เคยอยู่ที่ตลาดร้อยปี สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นร้านทำขนมไทยที่ใช้สูตรโบราณนานกว่า 50 ปี มีให้เลือกกว่า 50 เมนู ซึ่งทำด้วยตนเองทั้งหมด ราคาเริ่มต้นเพียง 10 บาทเท่านั้น เมนูซิกเนเจอร์คือขนมถ้วย ที่นึ่งสดใหม่ทุกวัน ทำจากน้ำตาลมะพร้าวแม่กลอง และใช้กะทิคั้นสด 100% รสชาติหวานมัน กลมกล่อม และอีกเมนูคือ ข้าวเหนียวมะม่วง หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ข้าวเหนียวเมล็ดนุ่ม ไม่อัดเป็นก้อน กินคู่น้ำกะทิคั้นสด รสชาติลงตัว
ร้านเปิดทุกวัน เวลา 10.00-24.00 น.
กุ๊กขี้เมา
“ประชาชาติธุรกิจ” ขอแถมให้อีกสักร้าน ข่าวดีสำหรับผู้ที่อยู่ในเมือง เพราะตอนนี้ “เชฟเป้–ธีรนัย จินดานุภาจิตต์” ได้ปักหมุด “กุ๊กขี้เมา” สาขาใหม่แล้วที่บรรทัดทอง ติดกับร้าน CQK ตรงข้ามลานจอดรถ Jpark (ตรงข้าม ซอย จุฬา 28)
กุ๊กขี้เมา โดดเด่นทั้งเมนูผัดและต้ม ไม่ว่าจะเป็น หมูกรอบคั่วพริกเกลือ หมูซอสสมุนไพร ไข่ข้นปู ไก่ซอสไข่เค็ม หรือกากหมูคั่วพริกเกลือ เป็นต้น ร้านเปิดทุกวัน เวลา 17.00-02.00 น.

ทำเลทอง
“รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ” รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาบรรทัดทอง–สามย่านให้เป็นสวรรค์ของนักชิม รวมความอร่อยหลากหลาย ทั้งอร่อยระดับตำนาน ระดับมิชลินไกด์ และอร่อยตามกระแสว่า ที่นี่จะเป็นอีกย่านหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้
นอกจากนักชิมจะได้ลิ้มรสความอร่อยที่หลากหลายและถูกหลักอนามัยแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศไทยสตรีตฟู้ดแบบใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ร้านอาหารเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ปลอดภัย ลูกค้าเดินทางมาง่าย และมีจุดจอดรถสะดวก
การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ย่าน” ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายองค์ประกอบเกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นั้น ๆ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย
สำหรับจุฬาฯ–บรรทัดทอง–สามย่าน เป็นย่านที่มีศักยภาพสูงด้วยหลายปัจจัยที่ลงตัว ประการแรก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ มีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีการจัดหมวดหมู่ร้านค้า ให้มีเอกลักษณ์และความชัดเจน อย่างที่เลือกให้บรรทัดทอง–สามย่านเป็นแหล่งรวมไทยสตรีตฟู้ด
“ย่านบรรทัดทอง–สามย่านมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว คือเป็นถนนที่มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้านดั้งเดิม และร้านอาหารที่ย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราช”
สามย่าน–บรรทัดทอง ยังเป็นทำเลทองที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทั้งนิสิต คนทำงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว ที่มีความต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้าจรดมื้อค่ำ
อาหารริมทางจุฬาฯ–บรรทัดทอง–สามย่าน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยสร้างกระแสการรับรู้และความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค ที่แวะเวียนมาตามอิทธิพลแบบปากต่อปากของทั้งเพื่อนและการรีวิวจากบล็อกเกอร์ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ย่านนี้เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง คนมากินเยอะขึ้น ร้านอาหารก็มาเปิดเยอะมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันสตรีตฟู้ดย่าน “จุฬาฯ–บรรทัดทอง–สามย่าน” ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นและค่ำ จะเห็นผู้คนยืนต่อคิวรอตามร้านอาหารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งบรรดาไรเดอร์ที่จอดมอเตอร์ไซต์เพื่อรอรับออร์เดอร์ให้ลูกค้าที่สั่งออนไลน์ด้วย
จุฬาฯ–บรรทัดทอง–สามย่าน สามารถเดินทางได้ทั้ง MRT หรือ BTS และมีรถขนส่งสาธารณะที่เข้าถึง ได้แก่ สาย 53, 67, 73