เปิดเส้นทางความสำเร็จ “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” จากขนมตลาด สู่ธุรกิจห้าร้อยล้าน

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

จากความตั้งใจมองหาธุรกิจในเชียงใหม่ที่เป็นที่รู้จักของคนทุกระดับ ถ้าได้ยินชื่อแล้วคนจำนวนมากน่าจะสนใจ คำตอบแรกที่ได้จากน้องที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ คือ “ผึ้งน้อย” พร้อมกับคำอธิบายว่า เป็นแบรนด์ขนม-เบเกอรี่ที่ดังมาก คนเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงรู้จักกันทั่วไป เป็นขนมที่อร่อยและราคาถูก ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้

เมื่อหาข้อมูลก็พบว่า ไม่ใช่เพียงในเชียงใหม่และภาคเหนือเท่านั้น ชื่อเสียงของ “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” นั้นกระจายออกไปนอกถิ่นกำเนิดมากพอสมควร และถูกยกมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจอยู่บ่อยครั้ง

ด้วยเงินลงทุน 600 บาท เมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน ปัจจุบันผึ้งน้อยมีรายได้ปีละประมาณ 500 ล้านบาท เป็นธุรกิจครอบครัวที่บริหารงานกันแบบดั้งเดิม มีความเป็นครอบครัวสูง แต่รายได้และการเติบโตไม่ได้เล็กตามรูปแบบการบริหารงานเลย

อดีต : จากขนมตลาด กว่าจะมาเป็น “ผึ้งน้อย”

ผึ้งน้อยเบเกอรี่ เกิดจาก ผ่องพรรณ ปาละพงศ์ หรือ “แม่พรรณ” หญิงชาวลำพูนที่ย้ายตาม รัตน์ ปาละพงศ์ สามีที่รับราชการครูและศึกษาธิการไปเรื่อย ๆ หลายอำเภอหลายจังหวัดในภาคเหนือ ไม่ได้ปักหลักอยู่ที่ไหนนาน แต่ไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหนมีอาชีพสองอาชีพที่ผ่องพรรณจะทำเพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวเสมอก็คือ เย็บผ้า และทำขนมขาย

ผ่องพรรณเริ่มทำขนมแบบฝึกเอง ได้เรียนจริงจังเพียงครั้งเดียวในปี 2517 คือ เรียนกับ “แม่จันติ๊บ” เป็นคนที่เคยดูแลเรื่องขนมของโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งก็เรียนเพียงไม่ถึงครึ่งเดือน ด้วยความที่มีฝีมือระดับหนึ่งอยู่แล้วจึงเรียนรู้ได้เร็ว

จากที่ทำขนมขายแบบเล็ก ๆ นั่งขายเองตามตลาดและแหล่งชุมชน จุดที่ผึ้งน้อยเริ่มก่อรูปร่างขึ้นมา คือ เมื่อปี 2524 ครอบครัวนี้ต้องย้ายไปที่จังหวัดพิษณุโลก เพราะรัตน์จะไปเรียนปริญญาโทที่ มศว. พิษณุโลก ตอนนั้นคุณแม่ลูกสองอยากหารายได้เข้าครอบครัว จึงเริ่มทำขนมขายอีกครั้ง เริ่มจากเงิน 600 บาทสุดท้ายที่มีอยู่ ซื้อเตาอบขนม 450 บาท และวัตถุดิบอีก 150 บาท ส่วนวัสดุอุปกรณ์บางอย่างใช้ของเดิมที่มีอยู่

“ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ก็เลยขอนั่งขายหน้าร้านก๊กหลี เป็นร้านขายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำขนมที่เราไปซื้อของเขา เขาก็ใจดีให้ขาย ขนมอย่างแรกที่ทำขาย คือ เอแคลร์ ตอนนั้นคนอื่นเขาขายตัวละ 75 สตางค์ เราคิดว่าถ้าทำให้แตกต่างก็จะเพิ่มราคาได้ ก็จะได้กำไรมากขึ้น จึงทำเป็นเอแคลร์หัวเป็ด ขายลูกละ 1.50 บาท” ผ่องพรรณเล่า

รัตน์, ผ่องพรรณ. รัตนา และลูกชายของรัตนา

ไม่นานก็มีโอกาสอันดี มีลูกค้าประจำชื่อครูเจนจิรา ซึ่งทำเค้กส่งขายที่ห้างท็อปแลนด์ พิษณุโลก มาชวนให้ทำเอแคลร์ส่งขายในชื่อของครูก่อน ต่อมาผ่องพรรณจึงได้ส่งขายเองในชื่อว่า “พี.พี.เจ้าเก่า” นั่นเป็นครั้งแรกที่ผ่องพรรได้ทำขนมเข้าไปขายในห้าง ส่วนตัวเธอเองยังนั่งขายที่หน้าร้านก๊กหลีเหมือนเดิม

ต่อมาสามีต้องย้ายไปที่จังหวัดแพร่ ต้องย้ายบ้านกันอีกครั้ง แต่ผ่องพรรณก็ยังทำขนมส่งมาขายที่ห้างท็อปแลนด์ พิษณุโลก และยังไป ๆ มา ๆ ระหว่างสองจังหวัด วันหนึ่งผ่องพรรณได้กลับไปเยี่ยมร้านก๊กหลี และได้รับความช่วยเหลือให้ซื้อของเงินเชื่อไปก่อนได้ วันนั้นผ่องพรรณจึงเชื่อของมาเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งผ่องพรรณยังจดจำบุญคุณนี้ไม่ลืมว่า ร้านก๊กหลีมีส่วนช่วยให้เธอตั้งตัวได้

ขณะที่กิจการกำลังดีขึ้น ครอบครัวก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ อิ๋ว ลูกสาวคนโตเจ็บหนัก ผู้เป็นแม่จึงต้องหยุดทำขนมนานเพื่อดูแลลูก จนเมื่อลูกสาวหายดีจึงได้กลับมาลุยอีกครั้ง

พ.ศ. 2527 รัตน์ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเชียงใหม่ และครั้งนี้เป็นจุดกำเนิด “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจากที่ผ่องพรรณครุ่นคิดกับชีวิตของตัวเองที่ต้องย้ายที่อยู่บ่อย ๆ จึงไม่ได้ลงหลักปักฐานสร้างเนื้อสร้างตัว เธอนึกถึงเรื่องของผึ้งที่เคยได้ฟังพระเทศน์เปรียบชีวิตคนที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีคุณสมบัติเหมือนผึ้ง คือ “ขยันทำกิน ไม่บินสูงนัก ฉลาดสะสม นิยมสามัคคี” บวกกับนึกถึงการ์ตูน “ผึ้งน้อยพเนจร” ที่ลูกสาวชอบดูตอนเด็ก ๆ คำว่า “ผึ้งน้อยพเนจร” ทำให้เธอนึกถึงตัวเองและครอบครัวที่พเนจรมาตลอด เธอจึงตั้งชื่อแบรนด์ขนมว่า “ผึ้งน้อย” เพื่อเตือนใจให้นึกถึงผึ้งที่แสนขยัน

ร้านแรกของผึ้งน้อยเกิดขึ้นที่หน้าบ้านเช่าตรงข้ามพณิชยการเชียงใหม่ เมนูเริ่มแรกที่ทำขาย คือ ชิฟฟ่อนกาแฟ และขนมปังต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ขายอยู่ตรงนั้นเกือบสองปีก็ย้ายไปที่ซอยอนุบาล ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทในปัจจุบัน โดยซื้อที่ดินราคาสองแสนบาทแบบผ่อนส่ง แล้วสร้างบ้านแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่พอเริ่มลงเสาเอกบ้าน สามีได้รับคำสั่งให้ย้ายไปพิจิตร คราวนี้ครอบครัวไม่ได้ย้ายตามไปด้วย เพราะตั้งใจจะลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ งานส่งขนมที่เคยเป็นหน้าที่ของพ่อจึงตกไปที่อิ๋ว ลูกสาวคนโตที่เวลานั้นกำลังเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

เมื่ออิ๋วเรียนจบด้านบัญชีและการเงิน จาก ม.พายัพ ลูกสาวคนเก่งได้เข้ามาช่วยงานแม่ ทำให้ธุรกิจค่อย ๆ โตขึ้น และจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อผึ้งน้อยได้รับคำชวนจากเจ้าของศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า (ปัจจุบันคือ เซ็นทรัล พลาซ่า แอร์พอร์ต) ให้เข้าไปเปิดร้านในห้างผึ้งน้อยเบเกอรี่จึงมีร้านของตัวเองเป็นร้านแรก

“ยอดขายร้านที่แอร์พอร์ตวันแรกเท่ากับที่ขายมาทั้งเดือน” ผ่องพรรณในวัย 70 กว่าปี ย้อนความทรงจำดี ๆ

จากนั้นผึ้งน้อยก็มีสาขาอื่น ๆ ตามมา และหลายปีต่อมาก็มีสาขาแฟรนไชส์เกิดขึ้นสาขาแรกที่โลตัส หางดง จำนวนสาขาที่เพิ่มมากขึ้นทำให้กิจการของผึ้งน้อยโตวันโตคืน

ปัจจุบัน : แบรนด์แข็งแรง ครองใจผู้บริโภค

ปัจจุบันผึ้งน้อยเบเกอรี่ มีสาขาราว 50 สาขา ในเชียงใหม่และหลายจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงบางจังหวัดในภาคกลาง มีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท/ปี ที่มาของรายได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.ร้านผึ้งน้อยที่เป็นร้านของตัวเอง 2.ร้านแฟรนไชส์ 3.ขายส่ง 4.รับจ้างผลิต โดยมีโรงงานผลิต 2 แห่ง คือ ที่เชียงใหม่ และลำพูน มีพนักงานรวมกว่า 800 คน

สินค้าของผึ้งน้อยมีมากกว่าพันรายการ ตามคอนเซ็ปต์ “หลากหลายความอร่อยที่คุณเลือกได้” แต่ไม่ได้ทำขายพร้อมกันทุกรายการ ขึ้นอยู่ที่ว่าช่วงเวลาไหนตลาดตอบรับกับเทรนด์ไหน ก็จะเลือกผลิตสินค้าออกมาขายให้ตรงกับความต้องการของตลาด แต่ก็จะมีสินค้าหลัก ๆ ของแบรนด์ที่ทำขายตลอด อย่างเช่น ขนมปัง ครัวซองต์ เค้กโรล ขนมเปี๊ยะ ฯลฯ

อิ๋ว-รัตนา ปาละพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของบริษัทมาตั้งแต่ต้นบอกว่า จุดแข็งของผึ้งน้อยคือคุณภาพของสินค้าที่ครองใจผู้บริโภค ต่อให้มีคู่แข่งเจ้าใหม่เข้ามา ก็ต้องทำให้ลูกค้ากลับมาให้ได้

“ไม่ว่าอะไรจะมา เราต้องให้ลูกค้านึกถึงของเราก่อน เพราะเรามีทุกอย่าง เราห้ามไม่ให้คนอื่นมาเปิดไม่ได้ ยังไงลูกค้าก็อยากลองของใหม่ แต่เราจะทำยังไงให้เขาลองแล้วกลับมาหาเรา ซึ่งลูกค้าก็กลับมาจริง ๆ เคยมีลูกค้าบอกพนักงานของเราว่า ไปลองมาแล้ว ไม่อร่อยเท่าของเรา”

รัตนาบอกว่า การจะทำให้สินค้าคุณภาพดีก็ต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพ ยึดหลัก “ทำเหมือนทำกินเอง” โดยอาศัยว่าเป็นรายใหญ่ซื้อวัตถุดิบเยอะ จึงซื้อได้ราคาถูกลง แต่บางครั้งแม้วัตถุดิบราคาสูงก็ยังทำเหมือนทำกินเอง มีเรื่องเล่าขำ ๆ ว่า ครั้งหนึ่งลองทำเค้กทุเรียนขาย ลองใช้ทุเรียนแห้งและผงทุเรียนแล้ว ได้รสชาติไม่ถูกใจ จึงใช้ทุเรียนสด ทุเรียนโลละ 600 บาท ขายเค้กชิ้นละ 45 บาท สรุปว่าเดือนนั้นขาดทุนไป 5 หมื่นบาท

“คนมองว่าผึ้งน้อยขายราคาถูก ใช้ของเกรดต่ำแน่เลย แต่คนที่เป็นเชฟ มีความรู้เรื่องเบเกอรี่มาเห็นของที่เราใช้ ซึ่งเหมือนร้านพรีเมี่ยม เขาทักว่า “พี่อิ๋วกล้าใช้ตัวนี้เลยเหรอ” เราไม่ได้บวกค่าบริการ จึงขายให้ลูกค้าได้ราคาไม่สูง แต่ด้วยความที่ราคาไม่แพง ทำให้บางคนมองเราเป็นเกรดต่ำ ซึ่งเราก็พยายามจะเปลี่ยนความเข้าใจของคน”

หลักการทำธุรกิจของผึ้งน้อย คือ ทำโปรดักต์ที่หลากหลาย ทำราคาให้ผู้บริโภคทุกระดับเข้าถึงได้ เหตุผลที่ต้องทำให้คนรายได้ระดับล่างเข้าถึงได้ เพราะคนกลุ่มนี้คือฐานล่างของพีระมิด เป็นส่วนที่กว้างที่สุด แต่หากในอนาคตข้างหน้าระดับกลางหรือระดับบนกว้างขึ้นก็จะขยับไปขายตรงที่ตลาดกว้างกว่า อยู่ที่ว่าลูกค้าต้องการอะไรก็จะตอบโจทย์ตรงนั้น

นอกจากรัตนาที่เป็นกำลังหลักของผึ้งน้อย ลูกสาวคนเล็กของรัตน์กับผ่องพรรณ คือ อุ้ม-พนิต ปาละพงศ์ ที่ชื่นชอบการทำขนมก็เคยลองผิดลองถูกทำแบรนด์ของตัวเองล้มเหลวมาแล้วสองสามครั้ง จนกระทั่งหลังจากไปร่ำเรียนที่ญี่ปุ่นกลับมา เธอก็มาประสบความสำเร็จกับ Mont Blanc Patisserie ร้านเค้กฝรั่งเศสสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นอีกแบรนด์หนึ่งในเครือผึ้งน้อย

ตอนนี้รุ่นลูกชายของรัตนาก็เข้ามาช่วยงานในบริษัทแล้วด้วย ดังนั้น อาณาจักรผึ้งน้อยแห่งเมืองเหนือจึงมี 3 เจเนอเรชั่นช่วยกันดูแลธุรกิจอันเป็นที่รัก ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะ

อนาคต : ต้องการพาร์ตเนอร์ ขยายทั่วประเทศ

ถามถึงเป้ารายได้ในอนาคตอันใกล้ รัตนาบอกว่า ช่วง 3 ปีมานี้เศรษฐกิจไม่ดี แค่พยุงตัวให้รายได้ไม่ลดลงได้ก็ดีแล้ว เธอบอกอีกว่า หลายปีที่ผ่านมาโตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ตลอด มีแค่ 3 ปีล่าสุดที่รู้สึกว่าทำธุรกิจยาก ในปีนี้ก็คาดหวังว่าจะดีขึ้น

สำหรับอนาคตของผึ้งน้อย ในแง่การบริหารภายในรัตนาอยากปรับให้เป็นรูปแบบบริษัทมากกว่านี้ แต่จะยังคงข้อดีของรูปแบบธุรกิจครอบครัวเอาไว้ผสมผสานกัน

ส่วนเป้าหมายสำคัญ อยากขยายธุรกิจไปทั่วประเทศตามคำเรียกร้อง แต่ไม่สามารถไปได้ เพราะสินค้าส่วนมากเป็นสินค้าอายุสั้น ถ้าจะไปทั่วประเทศต้องมีโรงงานในแต่ละภาค ซึ่งผึ้งน้อยยังไม่พร้อมที่จะทำเพียงลำพัง อยากมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นเจ้าถิ่นมาทำธุรกิจร่วมกัน

“มีแต่คนบอกว่า ทำไมไม่มาเปิดจังหวัดนี้ เราอยากเปิดนะ แต่อายุสินค้ามันสั้น เราส่งไปไม่ได้ ต้องมีโรงงานผลิต ฉะนั้นฝากกระจายข่าว ใครสนใจร่วมทุนกับเรา มาคุยกันได้” รัตนาบอกอย่างจริงจัง

แม้ว่าในประเทศจะยังไม่ได้ขยายไปภาคอื่น แต่ผึ้งน้อยได้เริ่มสยายปีกไปต่างประเทศก่อนแล้ว ประเทศแรกที่ไปก็คือ พม่า โดยเป็นการร่วมทุนกับเจ้าบ้าน ซึ่งจะไปได้สวยหรือไม่ก็ต้องติดตามผลในอนาคต